ขายออนไลน์ ต้องเข้าใจความต่าง Live Commerce ยัน Affiliate Marketing l 9 เม.ย. 68 FULL l BTimes Weekend

ไขข้อข้องใจ Live Commerce เหมือนหรือแตกต่างกับ Affiliate Marketing ตรงไหนกับนายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย

ถ้าบอกว่ายุคนี้เป็นยุคที่การ ‘ปักตะกร้า มาแรงกว่าหิ้วตะกร้า’ ก็ดูจะไม่เกินจริง ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีเข้าถึงคนได้ว่องไว แต่คนก็ใช้ประโยชน์จากการมีเทคโนโลยีมาสร้างรายได้กันมากขึ้น ทั้งจากการขายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนตัว หรือแม้แต่การขายบนแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่าง Shopee Lazada TikTok เป็นต้น ซึ่งช่องทางหการขายก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่เป็นเพียงการโพสต์รูปสินค้าพร้อมรายละเอียด ก็ขยับมาเป็นการ Live หรือที่เรียกว่า Live Commerce ซึ่งเป็นช่องทางการขายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงโควิด–19 โดย Live Commerce เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2014 หรือ พ.ศ. 2557 บนแพลตฟอร์มขายสินค้าแฟชันของประเทศจีนอย่าง ‘Mogujie’ ต่อมาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่สุดในจีนอย่าง Taobao ก็เริ่มนำช่องทางนี้มาใช้เช่นกัน นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้วงการอีคอมเมิร์ซทั่วโลก

ช่องทางต่อมาที่ถือเป็นตัวกระตุ้นยอดขายชั้นดีที่หลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตามาบ้างก็คือการทำ Affiliate Marketing ที่มักมาในรูปแบบของโพสต์บทความที่มีการแนบลิงก์สินค้า ที่ราวๆ 1–3 ปีที่ผ่านมา อาจจะเห็นโพสต์แนะนำของใช้ถี่ๆ ใน X (ชื่อเดิมคือทวิตเตอร์) และเฟซบุ๊กช่วงใกล้แคมเปญเลขเบิ้ล (Double Day) ซึ่งในปัจจุบันหลายๆ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่อยากมีรายได้เสริมเข้ามาสมัครเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการทำการตลาดแบบ Affiliate อีกด้วย

คุณมิ้นท์ – กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)

ทีนี้เชื่อว่าต้องมีคนสับสนกันบ้างหละว่าระหว่าง Live Commerce กับ Affiliate Marketing ต่างกันไหม BTimes เลยพาไปไขคำตอบแบบชัดๆ กับคุณมิ้นท์ – กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) โดยคุณมิ้นท์กล่าวว่าความต่างของ Live Commerce กับ Affiliate Marketing คือการทำ Affiliate Marketing จะเป็นการทำการตลาดที่เกือบคุ้มค่าที่สุดแล้ว เนื่องจากทางแบรนด์หรือเจ้าของสินค้าไม่ได้ลงทุนทันที แต่จะเป็นการจ่ายเพียงแค่ค่าคอมมิชชั่นตามที่ตกลงให้กับผู้เผยแพร่ เมื่อเกิดการซื้อขายแล้วเท่านั้น ซึ่งการทำ Affiliate Marketing ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็น KOL หรืออินฟลูเอนเซอร์เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมได้ แตกต่างกับการทำ Live Commerce ที่จะมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากคอมมิชชั่นเพิ่มเข้ามา อาทิ ค่าใช้จ่ายในการทำ Live, ค่าตัว KOL หรืออินฟลูเอนเซอร์ ลามไปถึงค่าจิปาถะอื่นๆ อีกมากมายตามที่แบรนด์ตกลงกับ KOL หรืออินฟลูเอนเซอร์ แต่ถ้าถามว่าผู้ประกอบการรายเล็กควรเลือกทำการตลาดแบบไหน คุณมิ้นท์แนะนำว่าให้ลองทั้ง 2 ช่องทางไปพร้อมกันได้เลย เพียงแต่อาจจะต้องลองลิสต์จุดแข็ง จุดอ่อนของแบรนด์ขึ้นมา แล้วมองหาสิ่งที่จะเข้ามาเสริมเพื่อแก้ไขจุดอ่อนนั้นๆ ได้

(ขอบคุณรูปภาพจาก Kanokpol Prasankhamphaibun, vecteezy.com)

นอกจากนี้ คุณมิ้นท์ยังฝากเคล็ดลับ ‘L I V E’ ให้กับผู้ประกอบการที่อยากจะเข้ามาในตลาดอีคอมเมิร์ซ ได้แก่
L: LIVE คือการเริ่มลงมือทำ Live เลย เพราะเพียงแค่คุณเริ่ม Live Now คุณจะรู้ได้ ณ Now เลยว่ามีคนดูคุณอยู่เท่าไร เพื่อจะได้วางแผนในการทำการตลาดต่อไปว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเพิ่มจำนวนคนดู และเปอร์เซ็นต์การขายได้อย่างถูกต้อง
I: Innovation หรือนวัตกรรม คือการนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับนวัตกรรม กระบวนการผลิต หรือผลเทสจากห้องปฎิบัติการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับผู้บริโภค
V: Valuation คือการทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า ยกตัวอย่าง หากมีการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ แบรนด์ก็ควรนำเสนอข้อมูลส่วนนี้ให้เป็นกิจจะลักษณะ หรือแม้แต่การจดสิทธิบัตร การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย
E: Entertainment คือเปิดใจลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อทำให้บรรยากาศในการขายสินค้าเกิดความสนุกสนาน ถือสิ่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะกดผ่านหรือติดตามต่อ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles