นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 ไทยมีนิติบุคคลดำเนิน ธุรกิจร้านอาหาร อยู่ 24,555 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.44% (23,926 ราย) โดยมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดมากที่สุด 89.10% (21,879 ราย) ห้างหุ้นส่วนสามัญ/ห้างหุ้นส่วนจำกัด 10.86% (2,667 ราย) และบริษัทมหาชนจำกัด 0.04% (9 ราย)
โดยจังหวัดที่มีการประกอบธุรกิจร้านอาหาร 5 อันดับแรกอยู่ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9,710 ราย (39.54%) ชลบุรี 2,693 ราย (10.97%) ภูเก็ต 1,936 ราย (7.88%) เชียงใหม่ 1,504 ราย (6.13%) และสุราษฎร์ธานี 1,411 ราย (5.75%) ตามลำดับ
ไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ปี 2568 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 973 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 339 ราย (34.84%) ชลบุรี 119 ราย (12.23%) เชียงใหม่ 77 ราย (7.91%) ภูเก็ต 62 ราย (6.37%) และสุราษฎร์ธานี 43 ราย (.4.42%)
ขณะที่รายได้รวมและผลประกอบการของธุรกิจ ปี 2565 รายได้รวม 244,577.43 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 65,180.30 ล้านบาท หรือ 36.33%) ผลประกอบการ กำไร 3,386.72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,050.56 ล้านบาท หรือ 135.05%) ปี 2566 รายได้รวม 314,054.92 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69,477.49 ล้านบาท หรือ 28.41%) ผลประกอบการ กำไร 9,559.01 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6,172.30 ล้านบาท หรือ 182.25%) สำหรับปี 2567 ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการส่งงบการเงินของนิติบุคคล
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจร้านอาหารไทยยังคงเติบโตได้ดี และมีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจร้านอาหารเป็นซอฟท์ พาวเวอร์ อันดับ 1 ของประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รับรู้และรู้จักไปทั่วโลก ยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่นิยมกับผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านความนิยมในการบริโภคอาหารไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยมีการปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคอาหารของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบเดลิเวอรี การสั่งอาหารล่วงหน้าแล้วมารับที่ร้าน หรือ บริการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการรอคิวและความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ พร้อมรับกระแสบริโภคนิยมที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาในการเดินทางไปร้านอาหาร
ทั้งนี้เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยสามารถปรับตัว แสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้น และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ร้านอาหารเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จับมือหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหารไทย โดยเน้นส่งเสริมให้มีระบบการบริหารจัดการร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน สามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งถือว่าผ่านการคัดสรรและรับรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันซอฟท์ พาวเวอร์ด้านอาหารไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยว นำเสนอเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีของประเทศ สร้างกระแสนิยมอาหารไทย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน