ลอรีอัล (L’Oreal) ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องสำอางหรูหราระดับตำนานของโลกจากประเทศฝรั่งเศส และเป็นเจ้าของแบรนด์หรูหรา เช่น ลังโคม (Lancôme) เมย์บีลีน (Maybelline) ยิบแซงบิวตี้ (YSL Beauty) รวมถึงทำแบรนด์ร่วมกับแบรนด์ชื่อดังระดับโลก เช่น อามานี่ (Armani) วาเลนติโน (Valentino) และพราด้า (Prada) เปิดเผยว่า เตรียมปลดพนักงานมากถึง 50% ในสายงานขายปลีกตลาดนักเดินทางและนักท่องเที่ยวในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกเครื่องสำอางในช่องทางนักเดินทางและนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของโลก สาเหตุจากตลาดสินค้าปลอดภาษีในจีนตกต่ำ และซบเซายาวนาน
การประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่และเป็นจำนวนมากของลอรีอัลในครั้งนี้ สะท้อนถึงแรงกดดันอย่างมากที่มีต่อกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางบนช่องทางค้าปลีกตลาดนักเดินทางและนักท่องเที่ยวในประเทศจีน ซึ่งจะมีช่องทางจำหน่ายในร้านสินค้าปลอดภาษีที่ตั้งอยู่ในใจกลางธุรกิจกลางเมือง และในสนามบินนานาชาติ
ลอรีอัล เปิดเผยว่ากลุ่มธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางในตลาดดังกล่าวสามารถทำยอดขายมากกว่า 50% ของยอดขายทั่วโลกในกลุ่มนี้ ท่ามกลางรายได้ทั่วโลกจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าว จะสามารถสร้างรายได้มากถึง 9% ของรายได้ทั้งบริษัท แต่ผลประกอบการของลอรีอัลก็ตกต่ำในรอบ 5 ปีผ่านมา หรือตั้งแต่วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19
คริสโตเฟอร์ แบบูเล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน หรือซีเอฟโอ ลอรีอัล เปิดว่า ในปี 2024 ผ่านมา ตลาดภูมิภาคเอเชียเป็นเพียงตลาดเดียวเท่านั้นที่มียอดขายลดต่ำลง โดยมีรายได้ลดลง 3.2% สาเหตุจากตลาดเครื่องสำอางบนช่องทางนักเดินทางและนักท่องเที่ยวในจีนซบเซาต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายปลีกตลาดเครื่องสำอางในทวีปเอเชียปี 2024 ลดลง 3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีผ่านไป เมื่อรวมทั้งปีผ่านไป ปรากฏว่ามียอดขายดำดิ่งมากถึง -10% สาเหตุจากผลประกอบการของร้านสินค้าปลอดภาษีในไห่หน่าน จีน และเกาหลีใต้ ล้วนย่ำแย่
สำหรับในประเทศจีน ปรากฏว่า ภาาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ชาวจีนตัดลดค่าใช้จ่ายเครื่องสำอาง ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย การลดบริโภคสินค้าของชาวจีนในประเทศ และค่าเงินหยวนที่ร่วงอ่อนค่ามาก ทำให้ชาวจีนซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อในประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2025 ผ่านมา เอสเต้ ลอเดอร์ (Estee Lauder) แบรนด์เครื่องสำอางหรูหราระดับตำนานของโลก เปิดเผยว่าได้ปลดพนักงานครั้งใหญ่ตั้งแต่ 5,800-7,000 คน หรือตั้งแต่ 9% ถึง 11% ของทั้งหมดที่มีอยู่ 62,000 คนทั่วโลก การปลดพนักงานจะมีขึ้นจนกระทั่งไปสิ้นสุดภายในปีงบประมาณ 2026 ส่งผลจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ระหว่าง 1,200 ถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 40,800-54,400 ล้านบาท
สาเหตุจากแบรนด์เอสเต้ ลอเดอร์ เผชิญกับยอดขายเครื่องสำอางที่ตกต่ำต่อเนื่องในตลาดขายปลีกของภูมิภาคเอเชีย ความต้องการซื้อหาเครื่องสำอางในตลาดประเทศจีนซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายตามร้านสาขา และเคาเตอร์ในร้านค้าเครื่องสำอางในสนามบินและแหล่งท่องเที่ยวในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ เอสเต้ ลอเดอร์ ต้องไปเผชิญกับแบรนด์เครื่องสำอางใหม่ และแบรนด์บำรุงรักษาผิวรายใหม่ ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดส่งผลไปถึงนักลงทุนที่ถือหุ้นลงทุนในบริษัทเอสเต้ ลอเดอร์ ล้วนเทขายหุ้นออกมาอยู่ตลอดเวลา
ด้านผลประกอบการของแบรนด์เครื่องสำอางระดับตำนานหรูหราของโลกดังกล่าวพบว่าในไตรมาสที่ 2 ของบริษัทซึ่งนับสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2024 พบว่า ยอดขายตกต่ำลงถึง 6% มีมูลค่าเหลือเพียง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 136,000 ล้านบาท ยอดขายที่ตกต่ำดังกล่าวนั้นย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะมียอดขายเหลืออยู่ที่ 3,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 134,980 ล้านบาท
ในขณะที่รายได้ต่อหุ้นของเอสเต้ ลอเดอร์ ในไตรมาสที่ 3 เมื่อปี 2024 พบว่ามีการปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวเป็นระหว่างหุ้นละ 24-34 เซนต์ หรือหุ้นละ 8.16-11.56 บาท ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับราคาคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ไว้ที่ 63 เซนต์ต่อหุ้น หรือหุ้นละ 21.42 บาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของบริษัท เอสเต้ ลอเดอร์ นางสเตฟานนี เดอ ลา ฟาเวอรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ยอดขายในไตรมาสที่ 3 จะยังคงเผชิญปัญหาต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ในตลาดท่องเที่ยวของทวีปเอเชีย ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคมปี 2024 ที่ผ่านมาบริษัทมีความจำเป็นต้องยกเลิกการคาดการณ์ยอดขายและกำไรประจำปี ในขณะที่ได้ประกาศปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจ หลังจากต้องเผชิญกับภาวะยอดขายที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
ธุรกิจเครื่องสำอางแบรนด์เอสเต ลอเดอร์ ก่อตั้งโดยสามีภรรยาชื่อโจเซฟ และเอสเตจากตระกูลลอเดอร์ โดยธุรกิจหลักอยู่ภายใต้บริษัทเอสเต ลอเดอร์ คอมพานี อินคอร์ปอเรชั่น หรือ ELC ซึ่งมีบริษัทลูกต่าง ๆ อีกมากมาย เริ่มต้นธุรกิจเครื่องสำอางเล็ก ๆ ในปี 1946 โดยเอสเตเป็นคนคิดสูตรครีมและทำการตลาด ส่วนโจเซฟรับผิดชอบเรื่องการผลิตและการบริหารกิจการ นอกจากนี้ ยังเป็นแบรนด์เครื่องสำอางแรกที่ใช้กลยุทธ์แจกของแถมเมื่อลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ทั้งนี้ แบรนด์เครื่องสำอางหรูหรา เอสเต ลอเดอร์ ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท ELCA ประเทศไทย จำกัด อยู่ในประเทศไทยเข้าสู่ปีที่ 33 โดยมีการขยายแบรนด์รวม 11 แบรนด์ในปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งสกินแคร์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และน้ำหอม เช่น La Mer, M.A.C, Bobbi Brown, Tom Ford Beauty, Jo Malone London, Clinique, Aveda, Origins รวมไปถึงแบรนด์น้องใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมาอย่าง Le Labo น้ำหอมสุด niche ชื่อดังจากนิวยอร์ค และ Dr.Jart+ เวชสำอางชั้นนำจากเกาหลี