ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในการประชุมวันที่ 22-23 เม.ย. โดยยังคงให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์ มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 5.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 6.50% โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ความไม่แน่นอนจากสงครามภาษีสหรัฐฯ-จีนกดดันค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าต่อเนื่อง แม้ธนาคารกลางอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงตลาด โดยล่าสุดปิดตลาดวันที่ 24 เม.ย. ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดที่ 16,880 รูเปียห์/ดอลลาร์ฯ ซึ่งในเดือน เม.ย. ธนาคารกลางอินโดนีเซียพยายามอย่างหนักในการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและสร้างความเชื่อมั่นของตลาดเพื่อรับมือกับผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs อาทิ
การแทรกแซงธุรกรรม Non-Deliverable Forward (NDF) ในตลาดต่างประเทศ รวมถึงธุรกรรม Spot และ Domestic Non-Deliverable Forward (DNDF) ในตลาดภายในประเทศ พร้อมกับการซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล (SBN) ในตลาดรองเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและสภาพคล่องให้เพียงพอในระบบธนาคาร
สนับสนุนการดำเนินงานทางการเงินเชิงรุกเพื่อเร่งการขยายตลาดเงินและตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex) และกระตุ้นการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ อาทิ การรักษาโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของตราสารการเงินและสวอปแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
กระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายส่งเสริมสภาพคล่องเชิงมหภาค (KLM) เริ่ม 1 เม.ย. โดยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในภาคส่วนที่สนับสนุนเศรษฐกิจตามโครงการ Asta Cita ของรัฐบาล เสริมสร้างการประเมินความน่าเชื่อถือของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อพื้นฐาน (SBDK) และส่งเสริมการธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลผ่านระบบ QRIS ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
เงินทุนไหลออกจากอินโดนีเซียตั้งแต่ต้นปี 2025 กดดันค่าเงินรูเปียห์อย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐจากการจัดตั้งดานันทารา Danantara กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง ประกอบกับความกังวัลกับทิศทางเศรษฐกิจหลังถูกเก็บ Reciprocal Tariffs ยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นนักลงทุน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องระงับการซื้อ-ขายชั่วคราวอีกครั้งเมื่อ 8 เม.ย. ทันทีที่ตลาดเปิดหลังเทศกาลหยุดยาว (ครั้งก่อนหน้า 18 มี.ค.) ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่านักลงทุนต่างชาติถอนเงินจากตลาดหุ้นอินโดนีเซียไปแล้วกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปีนี้ (จาก 2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสสุดท้ายปี 2024)
ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงชะลอการลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินเฟ้อเดือน มี.ค. กลับมาเป็นบวกที่ 1.03%YoY จากที่หดตัว 0.9%YoY ในเดือน ก.พ. เป็นผลจากการสิ้นสุดของมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 2,200VA อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงดูแลเงินเฟ้อด้วยการควบคุมราคาอาหารผ่านหน่วยงานรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้น แม้เงินเฟ้อเริ่มขยับสูงขึ้นแต่คาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินโดนีเซียอยู่ที่ 1.5-3.5%
เศรษฐกิจอ่อนแอสะท้อนผ่านกำลังซื้อในประเทศเติบโตช้า จะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index:CCI) เติบโตช้าลงต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน เช่นเดียวกับยอดค้าปลีกที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแม้จะมีแรงส่งจากการบริโภคช่วงเดือนรอมฏอนและอีดิลฟิฏร์ ทำให้ยอดขายสินค้าปรับตัวเพิ่งขึ้นนำโดยยอดขายอะไหล่และอุปกรณ์เสริมรถยนต์ อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ เครื่องมือสื่อสารและเสื้อผ้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดเงินในประเทศและต่างประเทศจะช่วยพยุงค่าเงินรูเปียห์ได้ในระยะสั้น ขณะที่การสร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารกองทุนดานันทาราให้มีความน่าเชื่อถือ มีส่วนสำคัญที่จะหยุดแรงขายสินทรัพย์อินโดนีเซียและสกัดการไหลออกของเงินทุนระยะยาว ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำเอื้อต่อการผ่อนคลายทางการเงิน แต่แรงกดดันจากการอ่อนค่าของรูเปียห์รวมถึงความไม่แน่นอนจาก Reciprocal Tariffs เป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยในระยะใกล้ อย่างไรก็ดี หากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินเริ่มฟื้นตัวและค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีโอกาสลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง เพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ