วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) รายงานผลงานวิจัยชื่อว่า “Love Wins Marketing: ถอดรหัสการตลาดหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยสำรวจกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งหมายถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ประกอบด้วย L=Lesbian, G=Gay, B=Bisexual, T=Transgender และ Q=Queer, I=Intersex, A=Asexual, N=Non-Binary และพลัส +(plus) จากกลุ่มเจนเนอเรชั่นคนไทย หรือเจนวาย(Y) และเจนซี(Z) รวมทั้งหมด 374 คน พบว่ากลุ่มดังกล่าวมีจำนวนราวกว่า 5.9 ล้านคน หรือเป็น 9% ของจำนวนประชากรคนไทยในประเทศไทย ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจใหม่ โดยสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตกว่า 0.3% สร้างรายได้เพิ่มกว่า 152,000 ล้านบาท
คนในกลุ่ม LGBTQIA+ นี้ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีแนวโน้มใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในหมวดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคู่และการสร้างความมั่นคง เช่น การจัดงานแต่งงาน การท่องเที่ยวฮันนีมูน การวางแผนครอบครัวและการมีบุตร การซื้อที่อยู่อาศัย การวางแผนการเงิน การทำประกันและดูแลสุขภาพ เป็นต้น
ที่สำคัญ กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงตัวตน การได้รับการยอมรับ และเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ได้มองเพียงแค่คุณภาพ หรือราคาเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับจากแบรนด์ที่มีความเข้าใจและเคารพความหลากหลายอย่างแท้จริง
ผลสำรวจ ปรากฏว่า 56.1% ของกลุ่ม LGBTQIA+ อยากจัดงานแต่งงาน โดยกลุ่ม L หรือเลสเบี้ยน(สนใจในผู้หญิงด้วยกัน) ต้องการจดทะเบียนสมรสมากที่สุดถึง 50.4% และมากกว่า 66.4% ของคู่รักเพศเดียวกันต้องการจดทะเบียนสมรส มี 48.7% นิยมจัดงานที่โรงแรม ในจำนวนนี้พบว่าเป็นกลุ่มเกย์วัยเจนซี(Z) มากที่สุดถึง 64.9% และ 54.4% นิยมจัดงานมีความจุคนเข้าร่วมงานปานกลางระหว่าง 50-100 คน โดยเฉลี่ยมีงบประมาณในการจัดงานประมาณ 300,000-500,000 บาท
กลุ่มนี้มี 51.8% ให้ความสนใจและวางแผนไปฮันนีมูนหลังแต่งงาน โดยมีกลุ่มเลสเบี้ยนสูงถึง 35.2% ที่ชื่นชอบการไปฮันนีมูน และมีถึง 46.9% ในกลุ่มเลสเบี้ยนเจนวาย(Y) นิยมไปฮันนีมูนในเอเชียมากที่สุด รองลงไป 32% เป็นภายในประเทศ 32% และยุโรป 21.1% สำหรับประเภทที่พักที่นิยมสำหรับฮันนีมูน คือ วิลล่าส่วนตัว หรือ Private Villa 40.6% รองลงมา 31.3% เป็นโรงแรมหรู โดยกลุ่มเกย์เจนวาย(Y) นิยมโรงแรมมากกว่ากลุ่มอื่น
ด้านท่องเที่ยว พบว่า กลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายในการท่องเที่ยวระหว่าง 20,000-50,000 บาทต่อปี เฉลี่ยไปท่องเที่ยวปีละ 3-5 ครั้ง โดยกลุ่มเกย์เจนวาย(Y) จัดสัดส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอยู่ระหว่าง 20,000-50,000 บาท ซึ่งสูงที่สุด นอกจากนี้ 54% ของกลุ่มเกย์เจนซี(Z) ชอบใช้บริการเอเจนซี่วางแผนฮันนีมูนให้มากกว่าวางแผนด้วยตัวเอง
ด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น พบว่าการซื้อคอนโดมิเนียมและบ้านจากคู่ LGBTQIA+ เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 15-20% ผลสำรวจ พบว่ามี 54% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยกลุ่ม L หรือเลสเบี้ยนมีความต้องการสูงที่สุด ในจำนวนนี้ 79.1% ของกลุ่ม LGBTQIA+ เลือกซื้อบ้านเดี่ยว มี 20.9% เลือกย้ายไปอยู่กับคู่รัก โดยมีงบประมาณเฉลี่ย 3-5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม L หรือเลสเบี้ยนเจนซี(Z) สนใจซื้อคอนโดมิเนียมสูงถึง 44% ส่วนกลุ่มเกย์เจนซี(Z) และกลุ่มอื่นๆเจนซี(Z) สนใจบ้านเดี่ยวมากกว่าที่ 40%
ในแง่การมีทายาทนั้น พบว่า ที่สำคัญ กลุ่ม LGBTQ+ อยากมีลูกสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยกลุ่ม LGBTQIA+ มีถึง 54% วางแผนมีบุตรภายใน 2 ปีหลังการแต่งงาน โดยกลุ่มเลสเบี้ยนเจนซี(Z) มีความต้องการอยากมีบุตรสูงที่สุด และกลุ่มเกย์เจนซี(Z) มี 16.1% ที่มีความคาดหวังที่จะมีบุตรมากกว่ากลุ่มอื่น ผลวิจัยยังพบว่า 12.9% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการใช้บริการธนาคารฝากเซลล์สืบพันธุ์ในการมีบุตร สำหรับทางเลือกในการมีบุตรของกลุ่ม LGBTQIA+ มีหลายวิธี เช่น การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ที่มีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ประมาณ 300,000-500,000 บาท การตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายสูงถึง 1-2.5 ล้านบาทหรือมากกว่า และการรับบุตรบุญธรรมที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่ 5,000-10,000 บาท
ด้านประกันสุขภาพ พบว่า 48.6% ของกลุ่ม LGBTQIA+ มีค่าใช้จ่ายกับประกันในช่วง 10,000-30,000 บาทต่อปี โดยประกันสุขภาพเป็นที่ต้องการของกลุ่มเกย์เจนวาย(Y) มากที่สุด กลุ่มเลสเบี้ยนเจนวาย(Y) ต้องการประกันชีวิตแบบระบุผู้รับผลประโยชน์มากที่สุด และกลุ่มเกย์เจนซี(Z) ต้องการประกันการเดินทางมากที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มเลสเบี้ยนสนใจบริการศัลยกรรมแปลงเพศมีถึง 8.7% มากกว่ากลุ่มเกย์ที่สนใจเพียง 3.5%
ด้านพฤติกรรมการบริโภคและทัศนคติต่อแบรนด์ พบว่า 77% ของกลุ่ม LGBTQIA+ มองปัจจัยด้านราคาและคุณภาพเป็นเหตุผลในการตัดสินใจซื้อโดยกลุ่มเกย์เจนวาย(Y) เน้นคุณภาพมากกว่าราคา ส่วนกลุ่มเลสเบี้ยนเจนวาย(Y) มองภาพลักษณ์มากกว่าราคา และกลุ่มอื่นๆเจนวาย(Y) ถึงกว่า 61% เป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อราคา นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 23% ของกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้ประสบการณ์ด้านบริการเป็นเหตุผลในการตัดสินใจซื้อ
สำหรับบริการที่เป็นที่ต้องการในกลุ่ม LGBTQIA+ ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย บริการการวางแผนครอบครัวและการมีบุตร และบริการแพทย์เฉพาะทาง/คลินิกพิเศษเฉพาะกลุ่ม ที่น่าสนใจคือ กลุ่มเลสเบี้ยนเจนซี(Z) นิยมออกเดทมากที่สุด โดย 77.8% ของกลุ่มนี้ออกเดท ส่วนที่เหลือไม่ออกเดท และยังพบว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000-5,000 บาทต่อเดือนในการออกเดท โดย 22.46% มีการใช้จ่ายสูงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน