ม.หอการค้า คาดวันแรงงาน ปี 68 คึกคัก ใช้จ่ายเม็ดเงินสะพัด 2,185 ล้านบาท วันหยุดยาววางแผนเที่ยว ซื้อของเพิ่ม แต่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสำรวจแรงงานไทยทั่วประเทศ จำนวน 1,250 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2568 พบว่า  แรงงานส่วนใหญ่มองว่าบรรยากาศวันแรงงานปีนี้ จะคึกคักมากกว่าปี 2567 อยู่ที่ 49.6% ส่งผลให้มีมูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้อยู่ที่ 2,185 ล้านบาท ขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปี 2567 มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 2,117 ล้านบาท

โดยกิจกรรมในช่วงวันหยุดแรงงานของแรงงานกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไปซื้อของ 46.4% ทานอาหารนอกบ้าน 27.3% ใช้จ่ายเฉลี่ย 1,790.72 บาท เพิ่มขึ้น 62.9% ท่องเที่ยว 13.9% ใช้จ่ายเฉลี่ย 3,890.31 บาท เพิ่มขึ้น 63% และพักผ่อนอยู่บ้าน 31.9% ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงาน เฉลี่ย 2,890 บาทต่อราย  ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายในภาพรวมของปี 2568 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 29.9% โดยช่วงวันหยุดพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม ต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ ทำให้มีเวลาสำหรับการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม  ปีนี้สถานการณ์มีความใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และคาดว่าจะมีความคึกคักมากกว่าปี 2567 ขณะเดียวกันเหตุการณ์ทรัมป์ 2.0 ยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อระบบเศรฐกิจไทย ซึ่งผลสำรวจยังพบด้วยว่าสถานการณ์ของแรงงานไทยในปีนี้ เริ่มดีขึ้นจากพฤติกรรมที่มีเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 38.6% มีการใช้จ่ายเท่ากับรายได้ที่รับถึง 52.1% และใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่รับ 25.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยสอดคล้องกับการชำระหนี้ต่อเดือนในปี 2568 ลดลงจากปีก่อนที่ 9,295.56 บาท เหลือ 8,407.55 บาท

ขณะเดียวกันรัฐบาลมีมาตรการแปลงหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ระบบมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบาลเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำให้กลุ่มตัวอย่างนำเงินส่วนดังกล่าวไปชำระหนี้ รวมถึงมาตรการคุณสู้ เราช่วยจะมีส่วนในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสถานภาพแรงงานที่ดีขึ้น

รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลอยากให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ยังสรุปไม่ได้ น่าจะมาจากคณะกรรมไตรภาคียังไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกันนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าและมีการเลื่อนออกไป 90 วัน รวมถึงการส่งมอบสินค้าในอัตราภาษีที่ไม่ถูกตอบโต้นั้น ผู้ประกอบการเองยังไม่มีความมั่นใจว่าจะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรในอนาคต จากที่ก่อนหน้านี้ ช่วงเมษายน 2567 ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ใน 10 จังหวัดนำร่อง ซึ่งเป็นเพียงบางเขตพื้นที่ และบางจังหวัดเท่านั้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles