ดร.โสภณ พรโชคชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล เปิดเผยว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เมียนมาร์ เมื่อ 28 มีนาคม ซึ่งส่งแรงสั่นไหวถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะตึกสูงรับรู้แรงสั่นสะเทือน คนที่อยู่บนตึกสูงทั้งอาคารสำนักงาน รวมถึงคอนโดมิเนียมต่างต้องวิ่งลงมาข้างล่างเพื่อความปลอดภัย และหลังเหตุการณ์สงบก็มีภาพความเสียหายของตัวอาคารเช่น ผนังแตกร้าว พื้นกระเบื้องโก่งแตก อาจส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยในคอนโดบางคนมีอาการแพนิค ไม่กล้าอาศัยอยู่คอนโดต่อ และบางส่วนได้มีการประกาศขาย
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามว่าอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะขายออกหรือไม่ และราคาจะต่ำลงหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจของ สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากลพบว่าหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว มี ผู้อยู่อาศัยคอนโดที่อาจจะแพนิคหรือตื่นกลัวประกาศขายคอนโดประมาณ 10% ของจำนวนคอนโดในกรุงเทพและปริมณฑลที่มีอยู่กว่า 78,000 หน่วย ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยคอนโดที่มีทั้งหมดพบว่า มีปริมาณไม่มาก และเชื่อว่าจะไม่แห่ขายไปมากกว่านี้
นอกจากนี้ยังพบว่าในเดือนเมษายน ตั้งแต่วันที่ 1-28 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีจำนวนห้องชุดหรือคอนโดในกรุงเทพฯ ขายได้ถึง 77 หน่วย หรือคิดเป็น 1% ของจำนวนห้องชุดใหม่ที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 7,000 หน่วย ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีห้องชุดหรือคอนโดไหนที่พังถล่มลงมาเช่นเดียวกับอาคาร สตง. คอนโดส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายก็ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ จึงเชื่อว่าตลาดคอนโดจะไม่ได้รับผลกระทบมาก และมีแนวโน้มคลายความกังวลมากขึ้น ส่วนราคาขายก็ยังคงเดิม ไม่ได้ลดลง และเมื่อดูจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ที่อาจจะส่งผลเฉพาะในช่วงแรก แต่หลังผ่านไปไม่นาน ราคาที่ดินก็พุ่งสูงขึ้น เช่น ที่ อาเจะ ประเทศอินโดนิเซีย หลังเหตุสึนามิ ราคาที่ดินสูงขึ้นเนื่องจากได้เงินทุนจากต่างประเทศเพื่อรับการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เจริญมากขึ้น