ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำรวจแรงงานทั่วประเทศ 1,250 ราย ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2568
โดยจากการสำรวจสถานภาพหนี้ของแรงงานและการจัดการหนี้ พบว่า 97.9% ระบุมีหนี้ โดยเป็นหนี้เพิ่มจากบัตรเครดิต ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานเอกชน ลูกจ้างราชการ/รัฐวิสาหกิจ ซึ่งการเป็นหนี้บัตร เพราะใช้จ่ายอุปโภคบริโภค สินค้าคงทน โทรศัพท์ ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน ที่เพิ่มขึ้น
มีภาระหนี้ เฉลี่ย 432,318 บาทต่อครัวเรือน ผ่อนชำระเดือนละ 8,407 บาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 82.9% ผ่อนชำระเดือนละ 7,858 บาท นอกระบบ 17.1% ผ่อนชำระเดือนละ 1,986 บาท ซึ่งพบว่าแรงงานชำระต่ำกว่า 5,000 บาท 90.5% มีรายได้ช่วง 15,000-30,000 บาท โดย 6 เดือนที่ผ่านมา ลักษณะการชำระหนี้แบ่งเป็นชำระบางส่วน 64.2% ขาดการชำระ/ผ่อน 8.8% ชำระเต็มเพียง 27% โดย 8.8% ประสบปัญหาผิดนัดชำระ เพราะต้องนำเงินไปชำระหนี้อื่นก่อน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย และมีรายจ่ายฉุกเฉิน ซึ่งภาระหนี้สินในปัจจุบันส่งผลต่อการใช้จ่ายนั้น ส่วนใหญ่ 57.5% ระบุเท่าเดิม อีก 34.8% ระบุลดลงถึงลดลงมาก เพียง 7.7% ระบุเพิ่มขึ้น โดยมองอนาคตอีก 3 เดือน ส่วนใหญ่ 64.5% ระบุภาระหนี้ต่อใช้จ่ายเท่าเดิม แต่จะลดลงเพิ่มแตะ 30%
แรงงานระบุว่า ราคาสินค้ากระทบต่อการดำเนินชีวิตมาก โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท กระทบ 100% ทำให้ต้องประหยัดใช้จ่ายเท่าที่ทำได้ เบิกค่าจ้างล่วงหน้า กดเงินสดบัตรเครดิต ขอยืมและกู้ช่วงของแพง เมื่อถามถึงทรรศนะต่องานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ภาพรวม 62.2% มองว่ายังมั่นคง อีก 27.8% ไม่แน่ใจ ส่วนอีก 9.9% มองว่างานที่ทำไม่มั่นคง โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างรายวัน/ชิ้นงานวิตกมากสุด
ขณะที่สถานภาพทางการเงินของแรงงานไทย ส่วนใหญ่มีรายได้ 30,000-60,000 บาท ตามมาด้วยรายได้ 15,000-30,000 บาท ต่ำกว่า 15,000 มีกว่า 25% ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ย ส่วนใหญ่ 15,000-30,000 บาท รองลงมาคือ 30,000-60,000 บาท 5,000-10,000 บาท การเก็บออมของแรงงานในปัจจุบัน 61.4% ระบุไม่มี ส่วนที่มี 38.6% ซึ่งจะเก็บเงินออม 9.4% ของรายได้ และมากสุดเก็บออม 500-1,000 บาท ตามด้วย 1,500-2,000 บาท เกิน 3,000 บาทมีเพียง 3.5% เปรียบเทียบรายได้กับรายจ่าย พบว่า 52.3% ระบุรายได้เท่าเดิม เพิ่มขึ้น 47.1% แย่ลง 0.7% แต่ด้านรายจ่าย ระบุเท่าเดิม 51.2% เพิ่มขึ้น 48.8% ส่วนใหญ่97% ชั่วโมงทำงานเท่าเดิม และภาระหนี้เท่าเดิม 82.3% ในจำนวนแรงงานทั้งหมดระบุไม่มีรายได้เสริม เพียง 9.2% มีรายได้เสริมและ 10.8% ทำอาชีพอิสระ รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 3,092 บาท
ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน 52.1% ระบุใช้จ่ายเท่ากับรายได้ที่ได้รับ 25.5% ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ และ 22.4% ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ สาเหตุมากจากมีค่าใช้จ่ายจำเป็นเพิ่มขึ้น มีภาระหนี้ต้องชำระ ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อเดือน อันดับแรกจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มตามด้วยที่พักอาศัย/เครื่องใช้ในบ้าน ชำระหนี้ ค่ายานพาหนะ การเลี้ยงบุตรหลาน และพบว่าปีนี้ไม่มีระบุว่าลงทุน โดยแรงงานไทย 71% มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้เพิ่มไม่มี ภาระหนี้มากขึ้น มีของต้องซื้อเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสูงมาก และรายได้เริ่มลดลง ส่วนที่ไม่มีปัญหา เพราะหาอาชีพเสริม จำนำของที่มีอยู่ ขอความช่วยเหลือจากญาติและรัฐ กู้นอกระบบ ซึ่งเพิ่มกว่าปีก่อนถึง 15.7%