กูรูนักเศรษฐศาสตร์ไทยชื่อดังเตือนแรง ไทยอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลว ชี้เศรษฐกิจไทยโตไม่ยั่งยืน ถ้าการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้ทำเพื่อคนทั้งประเทศ ยก 3 ค่าดัชนีระดับโลก นิติรัฐตกต่ำ-คอรัปชั่นเรื้อรัง-ประชาธิปไตยพกพร่อง สะท้อนไทยหล่นมาลำดับท้ายๆ ของโลก

กูรูนักเศรษฐศาสตร์ไทยชื่อดังเตือนแรง ไทยอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลว ชี้เศรษฐกิจไทยโตไม่ยั่งยืน ถ้าการเมืองและ เศรษฐกิจ ไม่ได้ทำเพื่อคนทั้งประเทศ ยก 3 ค่าดัชนีระดับโลก นิติรัฐตกต่ำ-คอรัปชั่นเรื้อรัง-ประชาธิปไตยพกพร่อง สะท้อนไทยหล่นมาลำดับท้ายๆ ของโลก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) โพสต์ข้อความเกี่ยวกับหนังสือชื่อว่า Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มีข้อความดังนี้ หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า ความร่ำรวยหรือยากจนของประเทศหนึ่ง ๆ ไม่ได้เกิดจากภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม หรือความขยันของประชาชน แต่สิ่งที่กำหนดอนาคตอย่างแท้จริง คือสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่ประเทศนั้นสร้างขึ้น

ถ้าประเทศนั้นมีสถาบันแบบ Inclusive (ครอบคลุม-เปิดโอกาส) ประกอบด้วยมี rule of law (นิติรัฐ) ที่เข้มแข็ง คุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน และมีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ประเทศนั้นจะสร้างโอกาสอย่างทั่วถึงและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ถ้าประเทศติดกับสถาบันแบบ Extractive (เอาเปรียบ-กอบโกย): ประกอบด้วย กลุ่มอำนาจบิดเบือนกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง มีการขัดขวางการแข่งขันและนวัตกรรม มีระบบการเมืองคอร์รัปชันและไร้ความโปร่งใส ผลคือ ติดกับดักความยากจนและเหลื่อมล้ำแบบไม่มีทางออก

ตัวอย่างจริงจากทั่วโลก กรณีสหรัฐอเมริกา กับเม็กซิโก ซึ่งมีเมืองชายแดนที่แบ่งครึ่งด้วยรั้ว—ครึ่งหนึ่งอยู่ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐ อีกครึ่งในโซโนราของเม็กซิโก แม้ทั้งสองฝั่งมีวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์คล้ายกัน แต่ฝั่งสหรัฐกลับมีรายได้ต่อหัวและคุณภาพชีวิตสูงกว่าอย่างชัดเจน เพราะสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่มี rule of law เข้มแข็งกว่า เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ขณะที่ฝั่งเม็กซิโกเผชิญกับการคอร์รัปชัน ความไร้เสถียรภาพ และโครงสร้างอำนาจที่กดขี่

กรณีเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน แต่วันนี้ต่างกันราวฟ้ากับดิน เพราะสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจต่างกันโดยสิ้นเชิง กรณีโคลอมเบีย กับคอสตาริกา พบว่าโคลอมเบียติดกับดักความรุนแรงและคอร์รัปชัน ขณะที่คอสตาริกาสร้างสถาบันประชาธิปไตยและการศึกษาที่มั่นคง กรณีประเทศบอตสวานา กับประเทศซิมบับเว พบว่าทั้งสองประเทศในแอฟริกาที่ตัดสินใจคนละเส้นทาง บอตสวานามีการบริหารจัดการโปร่งใส ส่วนซิมบับเวพังทลายเพราะคอร์รัปชันและการกดขี่

บทสรุปสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจทำงานเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ ประเทศที่ไม่กล้าปฏิรูปสถาบัน แม้จะดูแข็งแรงในบางช่วงเวลา สุดท้ายจะเจอกับจุดตันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย สัญญาณอันตรายหลายอย่างที่หนังสือเล่มนี้เตือน เรา “กำลังเห็นกับตา” อยู่แล้ว ว่า ระบบการเลือกตั้งที่ประชาชนเริ่มรู้สึกว่า “ไม่ matter” มีการแทรกแซงอำนาจตุลาการจนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมสั่นคลอน มีวัฒนธรรมที่คนทำผิดไม่ต้องรับผิด และการใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง

ตัวเลขล่าสุดที่ตอกย้ำว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรบ้าง ค่าดัชนีนิติรัฐ หรือ Rule of Law Index 2024 (World Justice Project) ของประเทศไทยอยู่อันดับ 78 จาก 142 ประเทศ ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์

ค่าดัชนีคอรัปชั่น หรือ Corruption Perceptions Index 2024 (Transparency International) ของประเทศไทยได้คะแนน 36/100 อยู่อันดับ 107 จาก 180 ประเทศ สะท้อนปัญหาคอร์รัปชันเรื้อรัง

ค่าดัชนีประชาธิปไตย หรือ Democracy Index 2024 (The Economist Intelligence Unit) ของประเทศไทยถูกจัดเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง หรือ Flawed Democracy อยู่อันดับ 63 จาก 167 ประเทศ โดยสรุปทุกตัวชี้วัดเลวร้ายลงเรื่อย

นี่คือสัญญาณชัดเจนว่า หากประเทศไทยไม่เร่งปฏิรูปสถาบันหลัก ๆ โดยเฉพาะหักนิติรัฐ หรือ rule of law คอร์รัปชั่น และประชาธิปไตย เราอาจไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกต แต่จะกลายเป็นกรณีศึกษาที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือ Why Nations Fail ในอนาคต ช่วยกันก่อนทุกอย่างจะสายเกินไปเถอะครับ ระวังไทยจะกลายเป็นบทหนึ่งของหนังสือ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles