นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ 3 ข้อสังเกตภาษีแวต (VAT) จ่อเก็บรายเล็กมีรายได้ไม่ถึงปีละ 1.8 ล้านบาท จำเป็นขยายฐานภาษี แต่ทำยังไงไม่ฉุดแรงจูงใจคนทำธุรกิจเติบโต ไม่ผลักธุรกิจหลบซ่อนมากขึ้น

นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ 3 ข้อสังเกต ภาษี แวต ( VAT ) จ่อเก็บรายเล็กมีรายได้ไม่ถึงปีละ 1.8 ล้านบาท จำเป็นขยายฐานภาษี แต่ทำยังไงไม่ฉุดแรงจูงใจคนทำธุรกิจเติบโต ไม่ผลักธุรกิจหลบซ่อนมากขึ้น

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับแนวคิดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวตกับธุรกิจรายย่อย มีดังนี้ 3 ข้อสังเกตจากงานวิจัย ก่อนเก็บ VAT ธุรกิจรายย่อย เมื่อกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ครอบคลุมธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมองว่าจะช่วยลดธุรกิจนอกระบบและเพิ่มรายได้เข้ารัฐ หลักคิดเรื่องการขยายฐานภาษีเป็นทิศทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อมุ่งให้ระบบภาษีเป็นธรรมมากขึ้น แต่คำถามสำคัญคือ เราเข้าใจบทบาทของเกณฑ์ VAT ต่อแรงจูงใจและพฤติกรรมของธุรกิจเล็กมากน้อยแค่ไหน

ในฐานะนักวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมธุรกิจขนาดเล็กและระบบภาษีไทย ผมขอฝากข้อสังเกต 3 ข้อเผื่อจะเป็นประโยชน์ได้บ้างครับ 1) พฤติกรรมการหลีกเลี่ยง 1.8 ล้าน และผลกระทบต่อการเติบโต งานวิจัยของเราพบว่าธุรกิจไทยมีพฤติกรรมกองตัว (bunching) อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับรายรับก่อนถึง 1.8 ล้านบาทเล็กน้อย นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่สะท้อนการตั้งใจหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบ VAT ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ งานวิจัยพบว่าธุรกิจจำนวนมากจงใจหยุดการเติบโต เมื่อรายได้เข้าใกล้ 1.8 ล้านบาท และพยายามรักษารายได้ให้อยู่ในระดับเดิมหลายปีติดต่อกัน ส่งผลให้ระบบภาษีกลายเป็นข้อจำกัดในการเติบโต แทนที่จะเป็นกลไกสนับสนุนธุรกิจ

2) ต้นทุนการปฏิบัติตามกฎ VAT สูงเกินรับไหวสำหรับธุรกิจเล็ก การเข้าระบบ VAT ไม่ได้แปลว่าแค่จ่ายภาษี แต่หมายถึงภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบจำนวนมาก ทั้งการออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง ทำบัญชีให้ได้มาตรฐาน ยื่นแบบรายเดือน เตรียมเอกสารพร้อมตรวจสอบสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีฝ่ายบัญชีเป็นเรื่องเป็นราว นี่คือภาระที่เปลี่ยนเกมไปเลย ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยยังพบว่าหากธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ที่คู่แข่งจำนวนมากอยู่นอกระบบ (VAT informality สูง) การเสียภาษีกลายเป็นต้นทุนที่ทำให้แข่งขันไม่ได้ เพราะแข่งขันยากเมื่อต้องเก็บ VAT จากลูกค้า

3) กฎระเบียบ VAT แบบ One Size Fits All เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหรือไม่ คุณลักษณะสำคัญของระบบ VAT ไทยคือการใช้กฎเกณฑ์แบบเดียวกันกับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะมีรายได้ 2 ล้าน หรือ 200 ล้านบาท ทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎแวตแบบเดียวกัน ซึ่งข้อดีคือเราได้ระบบภาษีที่เรียบง่ายและชัดเจน แต่ความเท่าเทียมแบบนี้อาจไม่เป็นธรรมกับธุรกิจเล็กที่ไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรเพียงพอในการจัดการภาระทางภาษีที่ซับซ้อน เปรียบเสมือนให้เด็กและผู้ใหญ่แบกกระเป๋าหนักเท่ากัน

หลายประเทศที่ต้องการขยายฐานภาษีไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก มีการสร้างระบบ simplified VAT โดยเฉพาะ เช่น ลดความถี่การยื่นแบบเป็นรายไตรมาสหรือรายปี (แทนรายเดือนแบบปัจจุบันของไทย) ทำระบบเครดิตภาษีซื้อให้ง่ายขึ้น หรือใช้อัตราเหมา (Flat rate) ลดความซับซ้อนของเอกสารที่ต้องจัดทำ ทั้งหมดนี้ช่วยให้การเข้าระบบไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับรายย่อย

มองภาพใหญ่ของระบบภาษีแวต (VAT) ในไทย พบว่า VAT คือแหล่งรายได้หลักของรัฐ คิดเป็นราว 30% ของรายได้ภาษีทั้งหมดในปัจจุบัน แต่ก็กลายเป็นเพดานที่ทำให้ธุรกิจเล็กจำนวนมากไม่กล้าโตเพราะกลัวข้ามเส้น 1.8 ล้านบาท หากอยากให้ระบบภาษีมีทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรม เราจำเป็นต้องแก้จุดนี้ การขยายฐานภาษีเป็นสิ่งจำเป็น แต่โจทย์ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การขยายฐานภาษีไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการเติบโต และไม่ผลักให้ธุรกิจหลบซ่อนมากขึ้น คำตอบอาจไม่ใช่แค่การเก็บภาษี VAT จากธุรกิจเล็กในอัตราที่ต่ำ แต่อยู่ที่การลดต้นทุนและความซับซ้อนของระบบ เพื่อให้การเข้าระบบ VAT เป็นเรื่องที่คุ้มและเป็นไปได้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles