นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.68 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการบังคับใช้กฎหมาย แบ่งเป็นการดำเนินคดีอาญาที่ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน (บก.ปอศ. และดีเอสไอ) รวม 7 คดี จำนวนผู้กระทำผิด 26 ราย
และการดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด รวม 8 คดี ผู้กระทำผิด 42 ราย
การดำเนินคดีอาญา ฐานความผิดประกอบด้วย สร้างราคา 4 คดี ผู้กระทำผิด 14 ราย แพร่ข่าว/ข้อความเท็จ 1 คดี ผู้กระทำผิด 1 ราย และประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต 2 คดี ผู้กระทำผิดมากถึง 11 ราย เนื่องจากมีคนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วยการช่วยเผยแพร่ข้อมูลชักชวนนักลงทุนไปลงทุนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทย
ขณะที่มาตรการลงโทษทางแพ่ง ฐานความผิดประกอบด้วย แพร่ข่าว/ข้อความเท็จ 1 คดี ผู้กระทำผิด 2 ราย สร้างราคา 4 คดี ผู้กระทำผิด 26 ราย ใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน 2 คดี ผู้กระทำผิด 12 ราย และ แสดงข้อความอันเป็นเท็จ/ปกปิดข้อความจริง 1 คดี ผู้กระทำผิด 2 ราย โดยการตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษรวม 4 คดี ผู้กระทำผิด 14 ราย ค่าปรับทางแพ่ง 14.14 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 10.20 ล้านบาท
นายเอนก กล่าวว่า ตั้งแต่ ก.ล.ต.มีการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งในปี 60 จนถึงปัจจุบัน มีการปรับทางแพ่งไปแล้ว 2,046.28 ล้านบาท ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 396.72 ล้านบาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 11.61 ล้านบาท
สำหรับคดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำนวน 6 คดี (ศาลชั้นต้น 1 คดี และศาลอุทธรณ์ 5 คดี) โดยศาลพิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่จำเลยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
โดยอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น/ศาลอุทธรณ์ จำนวน 15 คดี แบ่งเป็น 11 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และ 4 คดี อยู่ระหว่างอุทธรณ์ (ทั้ง 4 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่จำเลยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด)