นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจไทยเป็นการเร่งด่วน เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกาศใช้นโยบายภาษีใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยกระทรวงการคลัง ได้หารือและมอบนโยบายแก่สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ให้ทบทวน และปรับลดเป้าหมายกำไรจากการดำเนินธุรกิจลง เพื่อนำเม็ดเงินงบประมาณที่ได้ไปจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ โดยจะเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารออมสิน โดยโครงการนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการซอฟต์โลนอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างชัดเจนได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าไปยังตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา ,ผู้ประกอบการในธุรกิจ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก และผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวมด้วย
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อผู้ประกอบการในการดำเนินกิจการและการลงทุนในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาตใต้ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไข พร้อมต่ออายุโครงการซอฟท์โลนภาคใต้ ที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิ.ย.68 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2570
โดยในการดำเนินโครงการซอฟท์โลนภาคใต้ ธนาคารออมสิน ได้เตรียมวงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยซอฟท์โลนให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เพื่อให้นำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) รวมถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ทั้งนี้ ผู้ที่สามารถขอสินเชื่อ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อจากโครงการก่อนหน้านี้ และผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือเงินลงทุนเพื่อขยายกิจการ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีความห่วงใยกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินการต่อไปได้