KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือ 1.7% ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปีและเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด โดย KKP ต้องการชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้ว สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 นั้น หากไม่นับรวมการท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4/65 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อยแตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่อง สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศ อาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว
ในปี 68 นี้ 3 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน คือแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา และนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น KKP ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.2 ล้านคน เทียบกับปีก่อนที่ 35.6 ล้านคน หรือโตขึ้นเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และมีความเสี่ยงจะลดลงได้
ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 65 การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ยาก และภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรง โดยเฉพาะข้าวหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ โดยการส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในช่วงไตรมาสแรก รายได้ที่ชะลอตัวลงในภาคเกษตรจะส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคในประเทศชะลอลง
ภายใต้สถานการณ์ภาษี ผลกระทบจากภาษีต่อไทยจะเกิดขึ้นผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ การให้ข้อแลกเปลี่ยนทางการค้า และผลกระทบทางอ้อมจากภาวะการค้าโลก และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อการส่งออกไทย กรณีขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ ประเมินว่า GDP ไทยอาจได้รับผลกระทบติดลบประมาณ 0.15% หากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดในภาคเกษตรมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดย GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วน 8-9% และหมู-ไก่ 1.3% ผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว KKP ประเมินว่าในอดีตทุกๆ การลดลงของ GDP โลก 1% จะส่งผลให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.6%
ดังนั้น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากประเด็นสงครามการค้าในปี 68 ยังคงเอียงไปทางด้านลบ หากการเจรจาล้มเหลว และสหรัฐฯ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP ประเมินว่า GDP ไทยในปี 68 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9%