พาณิชย์ แนะธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทย เป็นโอกาสใหม่ในยุคผันผวน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดทำรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง ปลดล็อกโอกาสเติบโตธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทย พบว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและบริการแห่งอนาคต ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เป็นเครื่องมือธุรกิจ ซึ่งธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัล เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อีกทั้งธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน จึงเป็นโอกาสที่ไทย จะให้ความสำคัญและส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวให้เป็นหนึ่งในธุรกิจขับเคลื่อนภาคบริการของประเทศ 

ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก รายงานว่า ในปี 2566 มูลค่าการใช้จ่ายด้านธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (IT Service) ของโลก มีการเติบโตร้อยละ 3.8 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ารวม 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2567 คาดว่าการใช้จ่ายเกี่ยวกับ IT Service ของโลก จะมีมูลค่าถึง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปีก่อนหน้า โดยข้อมูลจาก Trademap พบว่า การค้าบริการระหว่างประเทศของโลก สาขาบริการโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และสารสนเทศ (telecommunications, computer, and information services) แนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562-2565 โดยในปี 2565 มีมูลค่า 1.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.98 ของการค้าบริการทั้งหมดของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดดิจิทัลโลก

ในยุคที่การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้บริการดิจิทัลสามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ

อย่างมหาศาล อีกทั้งยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยได้พยายามผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลมาโดยตลอด ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่า ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทยมีมูลค่า 567,057 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.79 และในปี 2566 GDP ในสาขาบริการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (Information and Communication) มีสัดส่วนร้อยละ 2.82 ของ GDP ทั้งหมดของไทย และคิดเป็นร้อยละ 4.63 ของ GDP ภาคบริการของไทย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลนิติบุคคลไทยของสนค. พบว่า ในปี 2566 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าจับตาและ

เป็นโอกาสของไทย ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 215,191 ล้านบาท ในปี 2566 และเป็นธุรกิจที่ขยายตัวสูงสุดในกลุ่มธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัล โดยขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12.80 มีอัตรารายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) ที่ร้อยละ 14.75 และมีผลกำไรในทุกภูมิภาค มีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 7,877 ราย อีกทั้งคาดว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของโลกจะเติบโตได้อีกมากในปี 2567-2569 โดยตัวอย่างธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุด เช่น (1) การจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ (ยกเว้นโปรแกรมเว็บเพจและเครือข่าย) (2) การจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (ยกเว้นซอฟต์แวร์เกมสำเร็จรูป) และ (3) การจัดทำโปรแกรมเว็บเพจและเครือข่าย

ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เป็นต้น

2. กลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัล มีมูลค่า 307,630 ล้านบาท ในปี 2566 ขยายตัวจากปีก่อนหน้า

ร้อยละ 9.28 มีการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยที่ร้อยละ 0.04 มีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 19,235 ราย ซึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพเมื่อพิจารณาจากจำนวนนิติบุคคลและรายได้รวมที่มาก ได้แก่ (1) การขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต (2)  การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์อื่นๆ (3) การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการโดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ (4) ธนาคารและประกันภัย เป็นต้น

สำหรับ 3. กลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ มีมูลค่า 44,236 ล้านบาท ในปี 2566 ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.01 เป็นธุรกิจอีกหนึ่งกลุ่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกและรวดเร็ว ธุรกิจกลุ่มนี้มีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 6,370 ราย และมีรายได้รวมในปี 2566 อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่น่าสนใจและผลักดันเนื่องจากมีรายได้รวมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) การผลิตรายการโทรทัศน์ (2) การขายปลีกเครื่องเล่นวีดิโอเกมและซอฟต์แวร์สำเร็จรูป และ (3) การผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 

แม้ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลของไทยก็ยังพบกับความท้าทายอีกหลายประการ อาทิ การเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย รวมถึงข้อจำกัดด้านเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการซอฟต์แวร์และดิจิทัลไทย ภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนร่วมดังนี้ 

(1) วางรากฐานนวัตกรรม อาทิ พัฒนา Digital Park Thailand และพัฒนาความเร็วและเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย (2) ทุนหนุนเทคโนโลยี อาทิ เพิ่มมาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัล 

(3) เสริม IP ดิจิทัล อาทิ เพิ่มมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ และสนับสนุนการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย และ (4) ขยายเป้าการค้าการลงทุน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อเพิ่มรายได้และโอกาสในการขยายธุรกิจบริการไทยให้เป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางบริบทโลกที่ผันผวน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles