กูรูเศรษฐกิจมองดีลภาษีสหรัฐ-เวียดนาม สูตร 40-20-10-0 ทำไทยนั่งไม่ติดในระยะยาว ไทยเจรจาได้ดีแค่ไหน ไทยมีสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างชาติแปลงร่างเป็นสินค้าไทยมากแค่ไหน

กูรู เศรษฐกิจ มองดีล ภาษีสหรัฐ -เวียดนาม สูตร 40-20-10-0 ทำไทยนั่งไม่ติดในระยะยาว ไทยเจรจาได้ดีแค่ไหน ไทยมีสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างชาติแปลงร่างเป็นสินค้าไทยมากแค่ไหน

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเจรจาภาษีของสหรัฐที่ตกลงกันได้กับเวียดนาม มีดังนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศว่าได้ “ดีล” กับเวียดนามสำเร็จ โดยมีหัวใจสำคัญคือ 40% ภาษี สำหรับสินค้าที่สหรัฐมองว่าเป็น “Transshipping” สินค้าจากประเทศอื่น (เช่น จีน) ที่เพียง “ผ่าน” เวียดนาม แล้วแปลงร่างเป็นสินค้าจากเวียดนามก่อนส่งไปสหรัฐ อัตรา 20% สำหรับสินค้านำเข้าทั่วไป อัตรา 10% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด และเวียดนามจะเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐแบบ “ศูนย์ภาษี” (Zero Tariff) และศูนย์แบบไม่มีการกีดกันอื่นด้วย แม้จะเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศ แต่จริง ๆ แล้วอาจกลายเป็นต้นแบบของแนวทางใหม่ที่สหรัฐจะใช้ต่อประเทศที่ “เกินดุลการค้า” กับอเมริกา… ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น

แต่รายละเอียดของดีลนี้ยังไม่ชัดเจน และนั่นคือประเด็นสำคัญ

1.คำจำกัดความของ Transshipping มีผลชี้ขาด ถ้าภาษี 40% ใช้เฉพาะกับการ “เลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน” ผลกระทบอาจจำกัด แต่ถ้าขยายความหมายให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่มีสัดส่วนชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนหรือประเทศอื่นมาก แม้จะแปรรูปในเวียดนามจริง ผลกระทบจะขยายวงกว้าง

2.ภาษีอาจ “แปรผันตามสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า” รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ภาษีอาจขึ้นกับสัดส่วน foreign content ถ้านำเข้าชิ้นส่วนมาก → เสียภาษีสูง (ราว 20%) ถ้าผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด → อาจเสียแค่ 10%

3.ภาษีอาจลดลงในอนาคต สำหรับสินค้าบางประเภท รายงานจาก Politico ชี้ว่าทั้งสองประเทศยังอยู่ระหว่างการร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ อาจลดภาษีให้กับสินค้านำเข้าหลายหมวด เช่น เทคโนโลยี รองเท้า สินค้าเกษตร ของเล่น ถ้าเป็นจริงภาษีเฉลี่ยที่เวียดนามต้องจ่ายอาจต่ำกว่าที่ประกาศไว้มาก แล้วไทยควรถามตัวเองอะไรบ้าง ?

1.สูตร 40-20-10-0 จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐหรือไม่ หากเวียดนามกลายเป็นต้นแบบ และสหรัฐนำแนวทางนี้ไปใช้กับประเทศอื่น ไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งในแง่การเจรจาเชิงนโยบายและการปรับตัวเชิงโครงสร้าง

2.หากไทยต้อง ‘เปิดหมด’ ให้สินค้าสหรัฐแนวเดียวกับเวียดนาม ผลกระทบคืออะไร เรามีมาตรการเยียวยาอุตสาหกรรมและผู้ถูกกระทบโดยเฉพาะคนตัวเล็กพอไหม

3.ระบบพิสูจน์ “แหล่งที่มา” ของสินค้าจากไทยเข้มแข็งพอหรือยัง ถ้าภาษีขึ้นกับสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า ประเทศที่ไม่มีระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้อาจถูกตีความให้ต้องเสียภาษีสูงเกินจริง แม้จะไม่ได้ทำผิด

4.ถ้าไทยต้องดีลแบบเดียวกัน “ใครได้-ใครเสีย” และภาษีจะหนักหรือเบาแค่ไหน บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดสหรัฐ ขณะเดียวกัน บางอุตสาหกรรมในประเทศอาจโดนสินค้านำเข้าแย่งตลาด ส่วนภาษีที่ไทยจะเจอจะขึ้นกับ 2 ปัจจัย : ไทยเจรจาได้ดีแค่ไหน และโครงสร้าง Supply Chain ของเรามี Foreign Content และสินค้าปลอมตัวเป็นไทยมากแค่ไหน

5.ไทยพร้อมจะ “ยกเครื่องโครงสร้างการผลิต” เพื่อสร้างแต้มต่อหรือยัง ? สูตร 40-20-10-0 ไม่ใช่แค่ภาษี แต่มันสะท้อนว่าโลกการค้าใหม่อาจจะให้รางวัลกับประเทศที่สร้างมูลค่าในประเทศได้จริง (มากยิ่งกว่าเดิม) จึงต้องเร่งลงทุนและปรับฐานการผลิตใหม่ ไม่ให้ตกขบวนของโลกยุคใหม่ ข้อตกลงเวียดนาม-สหรัฐไม่ใช่จุดจบ แต่คือจุดเริ่มต้นของแนวทางการค้าแบบใหม่ ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ที่กำลังเจรจาครับ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles