นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน มอง การถอยกลับมาจัดทำข้อเสนอใหม่ เป็นสัญญาณน่าเป็นห่วง และถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ เพราะไทยขยับตัวช้าไป เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในอาเซียนที่ได้เข้าเจรจากับสหรัฐไปแล้ว 2-3 รอบ แต่ไทยเพิ่งเจรจารอบแรก ทำให้มีความเสี่ยงสูงว่าจะปิดการเจรจาไม่ทันในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐ นัดส่งหนังสือเรียกเก็บภาษีจากแต่ละประเทศด้วยตัวเอง ส่วนจุดยืน การเจรจาแบบ win-win solution เป็นการตั้งสมมุติฐานผิด
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน สรุป 3 แนวทางไทยก้าวพลาดในการเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกา คือ ไทยไม่สามารถสรุปความชัดเจนเรื่องภาษีได้ตามกรอบเวลา ข้อเสนอของไทยไม่น่าจูงใจ การที่ไทยมุ่งเน้นความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอาจมองต่างมุมกับสหรัฐฯ
หากสหรัฐอเมริกาสรุปเก็บภาษีไทย 20% เท่ากับเวียดนาม จะทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนาม ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และยังเสียเปรียบอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ถูกเรียกเก็บภาษีน้อยกว่าไทย แต่หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ สหรัฐเก็บภาษีไทยเท่าเดิม 36% ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่หนักหนา และผลลัพธ์จะปรากฏปีหน้า
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2025 ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผมและคณะทำงานจะทำงานต่อให้หนักมากขึ้น เพื่อปรับเงื่อนไขที่เราเสนอเกิดความชัดเจน และเข้าใจว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยสรุปแล้วถือว่าการเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยคณะทำงานจะรับฟีดแบ็กเพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอใหม่เพิ่มเติม ข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยขอยืนยันว่าจุดยืนของคณะทำงาน คือ ข้อตกลงที่สามารถปฏิบัติได้ เป็นธรรม และยั่งยืน อยู่บนหลักการของการได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ win-win solution