ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร เผยว่า ปัจจัยพื้นฐานของไทยไม่ได้ทำให้เงินบาทต้องมีแข็งขนาดนี้เลย ทั้งในแง่ของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเราเกินดุลน้อยลงกว่าในอดีต แม้มีการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ว่าดุลการค้าก็ไม่ได้ดีนัก ปัจจุบันดัชนีค่าเงินบาท หรือ NEER ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขันทั้งสินค้าและบริการ แม้แนวโน้มในระยะสั้นอาจจะเห็นดอลลาร์อ่อนค่า บาทอาจจะแข็งค่า แต่ในระยะกลาง ระยะยาวน่าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงไปกว่านี้ กรอบเงินบาท 32-36 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เป็นกรอบที่กว้าง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศยังคงสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ สะท้อนถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
KKP คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ไว้ที่ 1.6% ซึ่งปรับลงจาก 1.7% และปี 2569 เหลือ 1.5% เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกับโลกใน 3 ประเด็นกดดัน เรื่องที่ 1 คือ นักท่องเที่ยวที่หายไป ตั้งแต่ต้นปีนี้นักท่องเที่ยวจีนหายประมาณ 40% และนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั้งหมดตั้งแต่ต้นปีหายประมาณ 4% เครื่องจักรด้านท่องเที่ยวที่คอยผลักดันเศรษฐกิจใน 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้จะไม่เป็นเครื่องจักรที่ส่งอีกแล้ว แต่จะเป็นเครื่องที่ดึงเศรษฐกิจเพราะ economic population หรือประชากรทางเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นอย่างที่ในช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งหลังของ ปีค่อนข้างเป็นห่วงว่าตรงนี้จะเป็นตัวฉุดที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างหนืด น่าเป็นห่วงในช่วงครึ่งหลังของปีและคาดว่าเศรษฐกิจจะถึงจุดต่ำสุด (bottom) ได้ในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ก็น่าจะกลับไปดีขึ้นได้”
ก่อนเกิดโควิด ไทยมีนักเที่ยวจีนมา 11
ล้านคน ปีที่แล้วเข้ามาประมาณ 6-7 ล้านคน ปีนี้คาดว่าอาจจะเหลือแค่ 4 ล้านคน นักเที่ยวจีนก็หายไป 2 ล้านคนแล้ว วันนี้
สัญญาณที่เราประเมินก็คือ ปีที่แล้วมี 35.5 ล้านคน ปีนี้เราประเมินว่าอาจจะเหลือแค่ 34 ล้านคนกว่า จะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
เรื่องที่ 2 ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของไทย เดือนเมษายนพฤษภาคม การส่งออกต่อเพิ่มขึ้น 18% การส่งออกไปสหรัฐฯประเทศเดียวเพิ่มขึ้นประมาณ 45% แต่ในช่วงเดียวกันดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแค่ 1.9% ก็เกิดคำถามว่า เราเอาอะไรไปส่งออก เพราะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งก็คือนำเข้ามาแล้วส่งออกไป หรือไม่ก็นำออกมาจากสินค้าคงคลัง ซึ่งหากเป็นการดึงออกมาจากสินค้าคงคลัง หรือลดสต็อกลง ก็น่าจะมีการผลิตทดแทนเพิ่ม ก็เป็นส่วนที่เราหวังว่าน่าจะมีตัวเลขที่ดีขึ้นได้ แต่ตัวเลขเดือนเมษายน พฤษภาคมก็ยังไม่ดี ประกอบกับอุตสาหกรรมที่ใหญ่สุด 3 กลุ่ม คือ รถยนต์ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 3 กลุ่มยังเผชิญปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก แต่รถยนต์ก็เห็นภาพได้ชัดรถยนต์ ICE เจอรถยนต์ EV ปิโตรเคมีก็ประสบการแข่งขันจากจีน กลายเป็นถึงแม้มีการผลิตทดแทนกลับขึ้นมา ตัวอื่นที่ยังไม่มี ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
เรื่องที่ 3 การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคาร การปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารติดลบต่อเนื่องหลายไตรมาสแล้ว ภาคธนาคารกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจว่า ถ้าปล่อยกู้ในสถานะปัจจุบันอาจจะเจอปัญหามากกว่าเดิม ทุกรายก็ค่อนข้างระวัง ปริมาณเงิน M2ต่อ GDP อยู่ในขาลงก็จะกลายเป็นการตั้งคำถามว่าแล้วอะไรจะมาทำให้เศรษฐกิจหมุนไป ข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอน 3 ด้านที่ไม่ได้ประเมินรวมไว้ แต่เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหญ่ เรื่องแรกคือการเมือง ถ้าการเมืองมีปัญหาจนกระทั่งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ไม่สามารถผ่านไปได้ เจอความล่าช้าแบบที่เคยเกิดขึ้น ในปี 2566 แล้ว จีดีพีไตรมาส 4 มีโอกาสติดลบได้อีก ในกรณีที่งบประมาณล่าช้าเหมือนที่เคยเกิดในปี 2566 จะมีผลต่อการเติบโตเมื่อเทียบรายปีของจีดีพีลดลงไปได้ 1%
ความไม่แน่นอนเรื่องที่สอง คือ การเจรจาการค้า ปัจจุบันสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐเสียภาษี 10% ถ้าถูกเก็บภาษีสูงขึ้น อุปสงค์จะหายไป สิ่งที่จะเลวร้ายกว่าคือ ถ้าโดนอัตราภาษีสูงกว่าคู่แข่ง ไม่เพียงแค่ความสามารถในการข่งขันของเราได้รับผลกระทบความน่าสนใจของไทยในการเป็นฐานในการผลิตก็จะได้รับผลกระทบ สิ่งที่เราจะต้องจับตาก็ไม่ใช่ว่าเราโดนเท่าไหร่ เพื่อนบ้านเราเวียดนามตอนนี้โดน 20%ไปแล้ว มาเลเซียจะโดนเท่าไหร่ จีนสุดท้ายจะโดนเท่าไหร่ เป็นความเสี่ยงที่ตอบไม่ได้เลย เป็นความไม่แน่นอนจริงๆ
ความไม่แน่นอนเรื่องสุดท้าย คือ ภูมิรัฐศาสตร์โลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองะหว่างประเทศ ทั้งนี้ อาจเห็นการลดดอกเบิ้นโยบายได้อีก ในอีก 12 เดือนข้างหน้าลงสู่ระดับ 1.0% เป็นไปได้ และเชื่อว่าบทบาทนโยบายการเงินอาจจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น