“ทรัมป์” ตีแสกหน้า เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 36% ต่อแล้วไม่ลด ส่งสัญญาณไม่พอใจข้อเสนอ รัฐบาลทำการบ้านหนัก หวังเจรจารอบหน้าขอส่วนลดปิดซูเปอร์ดีลเลขสวย

ภาษี ทรัมป์

หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ร่อนจดหมายประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าขั้นต่ำกับไทยในอัตรา 36% ก็ทำเอาหงายหลังไปตามๆ กัน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลให้ความมั่นใจมาโดยตลอดว่าไทยจะสามารถเจรจาปิดดีลกับสหรัฐได้แบบ Win–Win โดยจะไม่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบแน่นอน

โดยที่อัตราภาษีใหม่ที่รัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บในล็อตแรก มีด้วยกันทั้งหมด 14 ประเทศ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ซึ่งอัตราภาษีใหม่นี้บางประเทศลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568

สำหรับ 14 ประเทศที่ทรัมป์ประกาสเรียกเก็บภาษีใหม่ มีดังนี้

1. ลาว 40% ลดลง 8% จากเดิม 48%
2. เมียนมา 40% ลดลง 4% จากเดิม 44%
3. กัมพูชา 36% ลดลง13% จากเดิม 49%
4. ไทย 36% ยังเป็นอัตราเดิม
5. บังกลาเทศ 35% ลดลง 2% จากเดิม 37%
6. เซอร์เบีย 35% ลดลง 2% จากเดิม 37%
7. อินโดนีเซีย 32% ยังเป็นอัตราเดิม
8. บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 30% ลดลง 5% จากเดิม 35%
9. แอฟริกาใต้ 30% ยังเป็นอัตราเดิม
10. ญี่ปุ่น 25% เพิ่มขึ้น 1% จากเดิม 24%
11. มาเลเซีย 25% เพิ่มขึ้น 1% จากเดิม 24%
12. เกาหลีใต้ 25% ยังเป็นอัตราเดิม
13. ตูนีเซีย 25% ลดลง 3% จากเดิม 28%
และ 14. คาซัคสถาน 25% ลดลง 2% จากเดิม 37%

<รัฐบาลบอกการเจรจาสหรัฐยังมีโอกาส>

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม 2568) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร ก็ได้นัดทีมไทยแลนด์เข้าหารือร่วมกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านพิษณุโลก เกี่ยวกับข้อเสนอการเจรจาภาษีสหรัฐรอบใหม่ รวมทั้งผลกระทบจากการที่ไทยโดนภาษีไป 36% จะมีอุตสาหกรรมกลุ่มไหนโดนลูกหลงหนักๆ บ้าง

โดยคุณพิชัยย้ำว่ากรณีได้รับจดหมายจากสหรัฐอเมริกาเป็นการเลื่อนเวลาให้ เรายังไม่ได้เจรจาถึงที่สุด วันนี้จึงมีการทบทวนเพราะยังมีเวลาถึงวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อให้ได้ข้อยุติ ซึ่งมองว่าจะเป็นข้อยุติแบบกว้างๆ และยังต้องคุยกันอีกนาน อีกทั้งได้มีการหารือในหลายประเด็น ไม่ได้จำกัดเฉพาะมาตรการรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐเพียงอย่างเดียว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด ทั้งในด้านการชี้แจงและการเจรจากับทางการสหรัฐ โดยมาตรการของไทยสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนในทุกมิติ และหวังว่าจะไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ

นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ สหรัฐแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่จะเก็บภาษีออกเป็น 2-3 ประเภทใหญ่ๆ เช่น สินค้าทั่วไปเริ่มต้นที่อัตราภาษี 10% โดยบางประเทศ เช่น เวียดนาม อาจถูกเก็บเพิ่มเป็น 20% ส่วนสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา อีกประเภทหนึ่งคือสินค้าผ่านทาง ที่มาจากการนำเข้าก่อนนำมาประกอบหรือเพิ่มมูลค่าด้วยการใส่โลคอลคอนเทนต์ เชื่อว่าประเทศไทยมีระบบการควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ดี เมื่อเทียบกับบางประเทศที่อาจมีสัดส่วนสินค้าลักษณะนี้สูงกว่า ซึ่งอาจทำให้ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า

<ข้อเสนอสหรัฐรอบใหม่ เปิดตลาดให้สินค้าเกษตรและพลังงานสหรัฐ>

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เคยชี้แจงข้อเสนอที่ใช้ในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ที่ได้ยื่นข้อเสนอฉบับปรับปรุงใหม่เมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่ามีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ และลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐอเมริกาลงให้ได้ถึงร้อยละ 70 ภายในระยะเวลา 5 ปี และคาดว่าจะสามารถสร้างความสมดุลทางการค้าได้ภายใน 7–8 ปี ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่เคยเสนอไว้ว่าจะลดดุลการค้าภายใน 10 ปี โดยข้อเสนอฉบับใหม่ของไทยมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งในด้านการเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา และการเพิ่มการจัดซื้อพลังงานและเครื่องบินจากบริษัทของสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของการเปิดตลาดนั้น ไทยได้เน้นสินค้าในกลุ่มที่ยังขาดแคลนหรือผลิตไม่ได้ในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม 2568) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าข้อเสนอที่จะนำไปเจรจารอบหน้า อาจจะปรับแก้ข้อเสนอในรายละเอียดและหากทางฝั่งสหรัฐแจ้งมาก็พร้อมเสนอเพิ่มเติม โดยจะกำหนดเงื่อนไขไว้ 3 ประเด็น คือ

1. การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าในประเทศ ทั้งเกษตรกร และอุตสาหกรรมรายย่อย
2. การแก้ปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์ โดยดูแลการนำเข้าสินค้าให้ทั่วถึง ไม่ให้เกิดเรื่องที่ไม่เหมาะสมเหมือนที่ผ่าน และถือเป็นโอกาสในการทบทวนตัวเองให้สินค้าได้รับการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ ทั้งขาเข้าและขาออก
3. มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ โดยเฉพาะเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย

<ยังเปิดทางข้อเสนอนำเขข้าสินค้าสหรัฐภาษี 0%>

สำหรับข้อเสนอลดอัตราภาษีนำเข้า 0% ให้กับสหรัฐ คุณพิชัยกล่าวว่ามีสินค้าจำนวนเยอะพอสมควรที่จะให้อัตรา 0% แต่ไม่ได้ให้ทั้งหมดและจะดำเนินการโดยไม่ทำให้ประเทศผู้ค้าอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีข้อตกลงด้วยนั้นเสียเปรียบ ส่วนสินค้าเกษตรจะต้องดูว่ามีสินค้าตัวไหนเรารับได้ หรือรับไม่ได้

ปลัดกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท กล่าวว่าการลดภาษีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ยืนยันว่าดุลการค้าจะดีขึ้นเสมอไป เพราะหากลดภาษีแล้วไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากัน ดุลการค้าก็อาจยังคงเดิม ซึ่งข้อเสนอของไทยคือแนวทางที่จะทำให้ดุลการค้าระหว่างกันดีขึ้น และเป็นการบอกสหรัฐว่าเราไม่ได้ละเลยประเด็นนี้ รวมทั้งต้องมีการแก้ไขอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) โดยอาจรวมถึงการที่สินค้าไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ แม้ว่าภาษีจะลดลงเหลือ 0% เนื่องจากต้องมีการขออนุญาตหรือมีข้อจำกัดอื่นๆ โดยอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีจะแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้าด้วย

<ทักษิณเชื่อภาษีทรัมป์ เจรจาต่อรองได้ แต่ไม่ใช่ยอมทุกอย่าง>

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวิตร กล่าวว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นนักธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองสูง แต่การเจรจายังไม่จบ ตอนนี้จดหมายที่ออกมาจากทำเนียบขาว ข้อเสนอที่เรายื่นไปตอนแรกบอกว่าไม่พอ เราก็ปรับปรุงใหม่ เราก็เจรจาต่อ แต่การเจรจาไม่ใช่ยอมทุกอย่างเหมือนแก้ผ้าให้เลย ไม่อย่างนั้นเหมือนเราถูกชำเราฟรี เราต้องคิดทางถอยด้วย ไม่ใช่ให้ได้ทุกอย่าง

ซึ่งไทยต้องดู 3 ส่วน ได้แก่

1. บริษัทที่สหรัฐมาลงทุนในไทยแล้วส่งไปที่สหรัฐ ในส่วนนี้เราได้ค่าแรง และกลุ่มนี้ส่งกลับไปที่สหรัฐ การจะย้ายฐานกลับไปอเมริกาไม่ง่าย เพราะแรงงานเราเชี่ยวชาญแล้ว กลุ่มนี้รับสภาพภาษีที่ขึ้น
2. สินค้าที่วัตถุดิบมาจากจีน ในส่วนนี้เราเกินดุลอเมริกา แต่ไปขาดดุลจีน เราไม่เดือดร้อน
3. สินค้าเกษตร และที่เกี่ยวข้อง เราจะเปิดให้ส่วนนี้แล้วเราได้รับผลกระทบมาก ซึ่งเราต้องปกป้องไว้ เราจะยอมเฉพาะสิ่งที่เป็นไปได้ เราขายสินค้าให้สหรัฐ เราเสียภาษี แต่สหรัฐขายสินค้าที่เป็นบริการให้เรา เราไม่ได้เก็บภาษี เพราะเราไม่ได้คุมสตรีมมิ่ง เราก็ขอความแฟร์ ที่ต้องขอเก็บภาษีบ้าง

<ไทยโดนภาษี 36% ทำส่งออกไทยเสียหาย 9 แสนล้านบาท>

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล บอกว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะเก็บภาษีไทยถึง 36% ในเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี อาจทำให้มูลค่าส่งออกไทยสูญเสียไปประมาณ 8–9 แสนล้านบาทเลยก็เป็นได้

<ลงทุนต่างชาติส่อแววกระทบด้วย>

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน มองว่าจากอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยโดนเรียกเก็บ 36% ขณะที่เวียดนาม 20% คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ (FDI) รวมถึงการลงทุนของนักลงทุนไทยในประเทศไทยในช่วงนับจากนี้อาจจะชะลอลงตามไปด้วย โดยเฉพาะการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสหรัฐ จะเสียเปรียบไปด้วย

โดยสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วนประมาณกว่า 80%

แรงกระเพื่อมที่มาจากภาษีทรัมป์ ยังมีอีกหลายด้าน ยังไม่นับรวมความเสี่ยงของภาคแรงงานที่อาจตกงานหากกลุ่มการผลิตส่งออกต้องเสียศูนย์ ปลดคนงานเพื่อพยุงธุรกิจ ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดทองที่ผันผวน ซึ่งหากไทยเจรจาลดภาษีลงไม่ได้จริงๆ บวกกับอีกหลายปัจจัยฉุดประเดประดังเข้ามา ในระยะยาวย่อมส่งผลต่อเศรฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้เป็นแน่ แม้ว่ารัฐบาลจะยังคงยืนยันว่าไทยยังมีโอกาสเจรจาได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วเรายังต้องลุ้นว่าซูเปอร์ดีลไทย-สหรัฐจะจบลงที่ตัวเลขไหน..?

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles