ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในภาคบริการปี 2668 นั้น ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของภาคการค้าและบริการ และมีการใช้จ่ายไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด มีแนวโน้มคาดหวังได้น้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ความไม่สงบในหลายพื้นที่ของโลก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มหดตัว ประกอบกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยมีการลดสัดส่วนการช้อปปิ้งลงกว่าในอดีต กระทบต่อยอดขายในบางธุรกิจของ SMEs ที่พึ่งพากำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้
ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลัก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ขนส่งสินค้า/คน ร้านค้าปลีกอินเทอร์เน็ต และร้านค้าปลีกสินค้าทั่วไป สะท้อนจากตัวเลขการปิดกิจการของธุรกิจเหล่านี้ ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังปิดเพิ่มขึ้นจากความไม่สมดุลของผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอลง ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้ายังรุนแรง
ภาคการค้าและบริการ ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 80% อีกทั้งพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ยังถูกกดดันจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแรงงานเสี่ยงถูกกระทบการปิดตัวของโรงงานหรือกิจการ ทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย อีกทั้งยังมีประเด็นการเมือง ตลอดจน SMEs ต้องแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในการบริหารจัดการต้นทุนที่ผันผวน
แม้การจ้างงานสุทธิของธุรกิจ SMEs ยังเป็นบวก จากจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่ยังมากกว่าธุรกิจที่ปิดกิจการ แต่ตัวเลขอัตราการเติบโตกลับลดลงในช่วงปี 2565-2567 สะท้อนว่าไปข้างหน้าจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่อาจสามารถดูดซับแรงงานในตลาดได้น้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคการค้าและการผลิตที่มีอัตราการเติบโตของการจ้างงานเฉลี่ยต่อปีเพียง 2.1% และ 0.7% ชะลอลงจากในช่วงปี 2562-2564 ที่เคยโต 3.4% และ 2.0% สอดคล้องไปกับการจ้างงานในภาพรวม ณ ไตรมาสแรกปี 2568 ของภาคการค้าและการผลิตที่หดตัว -3.1% และ -0.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สิ่งที่ SMEs ต้องทำคือ การปรับตัว และการพึ่งพาตนเองให้ได้ในทุกสถานการณ์