แบงก์ชาติเปิด 3 ปัญหาโครงสร้างธุรกิจไทย ตั้งแต่ซัพพลายล้นตลาดมาถึงสงครามเล่นราคา เสื้อผ้าจากจีนถูกกว่าไทยเกิน 20% ไทยแห่นำเข้าเสื้อผ้าจีนพุ่งเกิน 40% ปิดจบคนไทยเปลี่ยนชีวิตติดจอออนไลน์

แบงก์ชาติ เปิด 3 ปัญหาโครงสร้างธุรกิจไทย ตั้งแต่ซัพพลายล้นตลาดมาถึงสงครามเล่นราคา เสื้อผ้าจากจีนถูกกว่าไทยเกิน 20% ไทยแห่นำเข้าเสื้อผ้าจีนพุ่งเกิน 40% ปิดจบคนไทยเปลี่ยนชีวิตติดจอออนไลน์

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย รายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ว่าอุปสรรคเชิงโครงสร้างของธุรกิจไทยที่สำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ การแข่งขันด้านราคา (Price Competition) ธุรกิจยานยนต์และเครื่องนุ่มห่ม เผชิญการแย่งส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจากสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น ราคาเครื่องนุ่งห่มจีนที่ต่ำกว่าสินค้าไทยถึงร้อยละ 20 และสัดส่วนการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากจีนต่อยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 44 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ธุรกิจหลายรายให้ความสำคัญกับการเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถ และเตรียมแผนธุรกิจเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่ชัดเจนมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (Demand Preferences) ในธุรกิจค้าปลีก online platform เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดการค้าปลีกแบบ offline แบบก้าวกระโดด สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่า e-commerce ต่อมูลค่าตลาดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 ในปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 25 ในปี 2567 ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกรุนแรงขึ้นมาก ธุรกิจรายใหญ่ในส่วนกลางจึงต้องขยายสาขาไปแข่งขันในภูมิภาคกับผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยในท้องถิ่นมากขึ้น

อุปทานล้นตลาด (Oversupply) ตัวอย่างในธุรกิจโรงแรม ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าผ่าน online platform อย่าง Airbnb ที่มีจำนวนห้องพักเกือบ 2 แสนห้องเทียบกับจำนวนห้องพักโรงแรมทั้งหมดอยู่ที่ 1.3 ล้านห้อง ในปี 2566 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนห้องพักทั้งหมด ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงโดยเฉพาะจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมต่ำกว่าระดับ 3 ดาว ทำให้ธุรกิจโรงแรมประสบภาวะ oversupply รุนแรงมากในช่วงหลัง

เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร ผู้เล่นรายใหม่เพิ่มเป็นเท่าตัวจากช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เปิดง่าย มี อุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาด (barrier to entry) ต่ำ ประกอบกับการเข้ามาของ food delivery platform ที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการแข่งขันของวงการอาหารไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ขณะที่กำลังซื้อเติบโตไม่ทันอุปทาน ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตเพียงร้อยละ 12 จากช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารจึงประสบกับภาวะ oversupply โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles