นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ 36% นั้น ถือว่าเป็นวิกฤตซ้ำเติมที่อาจทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างผลิต อาจถูกยกเลิกออร์เดอร์ หรือ ถูกลดปริมาณการสั่งซื้อ ผลกระทบนี้จะส่งผลต่อแรงงานในภาค SMEs กว่า 3.7 ล้านคน และผู้ประกอบการอีก เกือบ 5,000 ราย ที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งออกมาตรการเยียวยาเร่งด่วน เช่น สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ช่วยเหลือในการเปิดตลาดใหม่ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม และเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพื่อขอปรับลดภาษีให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้
เมื่อสัปดาห์ผ่านไป ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า อัตราภาษีที่ไทยถูกเก็บร้อยละ 36 ยังถูกทรัมป์ขู่ว่าหากไทยขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราใดก็จะจัดเก็บภาษีเพิ่มเข้าไปอีกในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับทีมเจรจาของไทยที่ต้องจบก่อนเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ภาคการส่งออกและโซ่อุปทานของไทยเกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน โดยมีการประมาณการเบื้องต้นว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 18 – 20 ล้านคน หากอัตราภาษีนำเข้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยถูกเรียกเก็บสูงกว่าประเทศคู่แข่งสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย จะมีผลอย่างมากต่อการลดลง ทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า
ผลที่ตามมาคือ การลดกำลังการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อแรงงานส่วนเกินทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจต้องสูญเสียตำแหน่งงาน หรืออาชีพ ผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าแรงงานเหล่านั้น ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนเท่าใดยิ่ง สัดส่วนมากผลกระทบก็ยิ่งสูง ตัวอย่างภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ เช่น 1.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.ผลิตภัณฑ์ยาง 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 5.เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบอื่น ๆ 6.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 7.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 8.อุปกรณ์กึ่งตัวนำ-ทรานซิสเตอร์ 9.เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก 10.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 11.อาหารสัตว์ และ 12. อาหารทะเล/ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
ภายใต้ภาวะเช่นนี้ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะมีการปรับพอร์ตแหล่งนำเข้าใหม่ ซึ่งคาดว่าคำสั่งซื้อจะเริ่มลดลงในช่วงเดือนกันยายน อุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างน้อย 1 ใน 5 จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การผลิตที่ลดลงมีผลต่อการใช้แรงงานลดลงแต่จำนวนเท่าใดในขณะนี้ยังประเมินไม่ได้
ภาคแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออกและโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ เป็นทั้งผู้ผลิต ขณะเดียวกันเป็นผู้บริโภค ครัวเรือนแรงงาน จึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดของประเทศ ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่จะลดลงกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการซื้อสินค้าประเภทถาวร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยานพาหนะหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน