ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าปรับลดภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ระหว่างกัน การส่งออกจีนในเดือนมิ.ย.68 กลับมาเติบโตเร่งตัวขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมี.ค.68 อยู่ที่ 5.8% เทียบมิถุนายนในปีผ่านมา และจาก 4.8% เทียบพฤษภาคมในปีผ่านมา
ด้านการนำเข้าเดือนมิ.ย.68 พลิกกลับมาเติบโตอยู่ที่ 1.1% เทียบมิถุนายนในปีผ่านมา และจาก -3.4% เทียบพฤษภาคมในปีผ่านมา ส่งผลให้จีนยังเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 114.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ชะลอการหดตัวอยู่ที่ -16.1% เทียบมิถุนายนในปีผ่านมา จาก -34.5% เทียบพฤษภาคมในปีผ่านมา ซึ่งถูกชดเชยด้วยการการส่งออกไปอาเซียนที่ยังเติบโตแข็งแกร่งที่ 16.8% เทียบมิถุนายนในปีผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากการเร่งส่งออกก่อนที่ข้อยกเว้นภาษี 90 วันของสหรัฐฯ กับชาติอื่น ๆ ยกเว้นจีนจะจบลง โดยจีนส่งออกมาประเทศไทยเดือนมิถุนายน 2568 เติบโตสูงสุดในอาเซียนอยู่ที่ 27.9% รองลงมาคือเวียดนามที่เติบโตที่ 23.8%
ส่งออกจีนครึ่งแรกของปีเติบโตดีกว่าคาดการณ์จากการเร่งส่งออกก่อนข้อยกเว้นภาษี 90 วันกับประเทศอื่น ๆ ยกเว้นจีนจะจบลงในเดือนก.ค.68 อีกทั้งสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงเจรจาการค้ากันได้ในเดือนพ.ค.68 ทั้งนี้ ยังต้องติดตามหลังการปรับลดภาษีระหว่างจะสิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. 68 โดยการเติบโตของการส่งออกครึ่งแรกของปีคาดจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2568 ให้ขยายตัวดีกว่าประมาณการณ์เดิมซึ่งรอติดตามตัวเลขจะประกาศในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค. 68)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 การเติบโตของการส่งออกจีนมีแนวโน้มชะลอลง โดยเผชิญความเสี่ยงอีกหลายประการ ดังนี้
1.การสิ้นสุดข้อยกเว้นภาษี 90 วันกับประเทศอื่น ๆ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 68 ที่ผ่านมา อัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บในประเทศอาเซียนจะกลับมาอยู่ในระดับสูง (เริ่ม 1 ส.ค.68) เช่น ประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 36% ขณะที่ประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้อย่างเวียดนามที่ลดภาษีอยู่ที่ 20% ยังเผชิญเงื่อนไขเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ในเรื่องสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนามที่จะโดนเก็บภาษีที่ 40%
2.แม้สหรัฐฯ และจีนจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าแต่อัตราภาษีปัจจุบันที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจีนยังอยู่ในระดับสูงที่ 51.1% (อ้างอิงข้อมูลจาก PETERSON INSTITUTE FOR INTERNATIONAL ECONOMICS) ส่งผลให้การส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มหดตัว
3.การเรียกเก็บภาษีในรายสินค้าอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บเพิ่มเติมคาดจะยังมีทยอยออกมาต่อเนื่อง
4.แนวทางการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ อาจมีข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับจีนเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันการส่งออกจีนในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในเดือนเมษายนผ่านมา สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน เปิดเผยการส่งออกสินค้าเดือนเมษายน 2025 พบว่า จีนส่งออก สินค้ามาภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น +20.8% เกี่ยวกับช่วงเดียวกันในปี 2024 นอกจากนี้ยังเพิ่มสูงขึ้นถึง +11% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนามจะเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าจากประเทศจีนก็ตาม แต่กลับพบว่า จีนส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยพุ่งสูงมากขึ้นถึง +28% และเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 17% ไปยังประเทศอินโดนีเซีย