หอการค้าไทย มั่นใจข้อเสนอสหรัฐรอบ 3 ตอบโจทย์ USTR คาดสหรัฐจะเคาะภาษีนำเข้าไทย อยู่ในระดับเหมาะสม

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอรอบล่าสุดของไทยที่ยื่นต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อค่ำวันที่ 17 กรกฎาคม สร้างความพึงพอใจให้แก่ฝ่ายสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยคาดหวังว่า “ตัวเลขสุดท้าย” ของอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่จะกำหนดสำหรับสินค้าไทยจะอยู่ในระดับที่ไทยยังสามารถแข่งขันทางการค้าได้ โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาครัฐได้เชิญตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเจรจาอย่างเป็นทางการกับ USTR ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม

ซึ่งข้อเสนอที่ไทยยื่นเป็นรอบที่ 3 ซึ่งได้ปรับปรุงจากข้อเสนอชุดก่อนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ถือเป็นข้อเสนอที่สหรัฐฯ ให้การตอบรับในทิศทางที่ดี แม้ยังมีบางรายการที่อยู่ระหว่างการต่อรองเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่า จะมีการหารืออย่างต่อเนื่อง

สำหรับ ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก ยังคาดหวังว่า สหรัฐฯ จะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค

ก่อนหน้านี้นายพิชัย ชุณหวชิรระบุว่า ข้อเรียกร้องสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ ในการเจรจาครั้งนี้ คือ การขยาย Market Access หรือการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ เข้ามาขายสินค้าในไทยได้มากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและประเภทสินค้า ซึ่งทีมไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้หลักการว่า จะเปิดเฉพาะสินค้าที่ “เขาอยากขาย” และ “เราอยากซื้อ” โดยเน้นรายการที่ไทยยังผลิตไม่ได้ หรือผลิตไม่เพียงพอเช่น พลังงาน วัตถุดิบเกษตร หรือวัตถุดิบอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถกำหนดอัตราภาษีนำเข้าระดับต่ำหรือ 0% ได้อย่างเหมาะสม

ด้านนายพิชัย ระบุว่า การเจรจาครั้งนี้มีความซับซ้อนและแตกต่างจากการเจรจา FTA ทั่วไป เนื่องจากเป็นการเสนอในลักษณะ “US Preferential Treatment” หรือการขอสิทธิพิเศษฝ่ายเดียว ซึ่งไทยจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยยึดหลักการรักษาสมดุลผลประโยชน์ระยะยาว

นายพิชัยย้ำว่า ไทยได้พยายามปรับข้อเสนอให้ครอบคลุมรายการสินค้านำเข้าที่เปิดตลาดได้ถึง ประมาณ 90% แล้ว จากสินค้าทั้งหมดราว 10,000 รายการ โดยในจำนวนนี้มีหลายรายการที่ไทยมี FTA กับประเทศอื่นอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบ หากจะเปิดให้สหรัฐฯ เข้ามา นอกจากนี้สินค้าที่ราคาภายในประเทศไม่สูงเช่น ลำไย ปลานิล ที่ฝ่ายสหรัฐฯ ขอเปิดตลาดก็จะส่งผลต่อราคาผลผลิต หรือรถยนต์พวงมาลัยซ้ายซึ่งเชื่อว่า จะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเช่นกัน

ในประเด็น Local Content ที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากเช่นกัน นายพิชัยยอมรับว่า เป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ไทยจะใช้โอกาสนี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรและ SME โดยภาครัฐได้เตรียมมาตรการเยียวยาไว้แล้ว เป็นเงินกู้ดอกเบื้ยต่ำ 0.01% วงเงิน 200,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการค้าครั้งนี้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles