บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) เปิดเผย “รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2025” (Global Wealth and Lifestyle Report 2025) ที่จัดทำโดย จูเลียส แบร์ ซึ่งเผยให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs และ HNWIs) ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังคงมีการเติบโต โดยพบกระแสการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ (Longevity) ส่งผลสำคัญต่อการวางแผนชีวิตและการเงิน สอดคล้องกับนิยามของความหรูหราที่กำลังเปลี่ยนไปจากการบริโภคสินค้าหรูสู่การเน้นประสบการณ์อันล้ำค่า ขณะที่กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองค่าครองชีพแพงอันดับ 11 ของโลก และสิงค์โปรยังคงครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดความมั่งคั่งในเอเชียแปซิฟิกยังคงคึกคักและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นหัวใจของเศรษฐกิจโลก GDP โตต่อเนื่อง หนุนยอดเศรษฐีพุ่งพรวด
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในปี 2567 แต่ก็ยังคงแซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ความมั่งคั่งในภูมิภาคนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการเติบโตของ GDP ที่ 4.5% ในปี 2567 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 5.1% ในปี 2566 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.3% อย่างชัดเจน แนวโน้มนี้ส่งผลโดยตรงต่อจำนวนผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชีย ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี แตะระดับ 855,000 คนในปี 2567 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยหนุนสัดส่วนของ HNWIs รายใหม่ทั่วโลกในเอเชียให้สูงถึง 47.5% ระหว่างปี 2568 ถึง 2571 ตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นศูนย์กลางของโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งกำเนิดความมั่งคั่งที่สำคัญของโลก
กรุงเทพฯ ติดอันดับค่าครองชีพแพงติดอันดับ 11 ของโลก
รายงานเผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอันดับเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง โดยกรุงเทพฯ เลื่อนขึ้น 6 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค รายงานระบุว่า กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในมหานครที่แพงที่สุดในโลกสำหรับ สินค้าฟุ่มเฟือย อย่างแฟชั่นสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ รวมถึงรถยนต์และนาฬิกา สำหรับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ฮ่องกงอยู่ในอันดับ 3 (ลดลงจากอันดับ 2) โตเกียวเลื่อนขึ้น 6 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 17 และเซี่ยงไฮ้ลดลงจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 6
การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชียแปซิฟิก
ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มการเพิ่มทั้งการใช้จ่ายและการลงทุน (39%) โดยมีการเพิ่มขึ้นโดยรวมในการลงทุนสูงที่สุดที่ 68% ผู้ลงทุนในภูมิภาคนี้ยังมีแนวโน้มสนใจการลงทุนในเทรนด์อนาคตหรือการลงทุนที่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเองมากกว่าภูมิภาคอื่น ด้านหุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตามด้วยอสังหาริมทรัพย์และเงินสด