ความขัดแย้งไทย–กัมพูชาร้อนระอุ เปิดศึกปะทะเดือด กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมแบบจำกัด แต่ยังมีห่วงฉุดความเชื่อมั่น การลงทุนระยะยาว

ความขัดแย้ง ไทย – กัมพูชา ร้อนระอุ เปิดศึกปะทะเดือด กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมแบบจำกัด แต่ยังมีห่วงฉุดความเชื่อมั่น การลงทุนระยะยาว

นับเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกที่กองทัพกัมพูชาเปิดฉากโจมตี เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ค. 2568 โดยมีพลเรือนหรือชาวบ้านตาสีตาสาคนไทยตามแนวชาวแดนไทย–กัมพูชา ตกเป็นเป้าหมายรวมทั้งทหารของฝ่ายไทย ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต จนนำไปสู่การตอบโต้จากฝั่งกองทัพไทย

โดยกองทัพภาคที่ 2 ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างไทย–กัมพูชาของวันที่ 25 ก.ค. 68 เฟซบุ๊กกองทัพภาคที่ 2 ว่าจากสถานการณ์การปะทะพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา อันสืบเนื่องมาจากฝ่ายกัมพูชาเปิดฉากยิงเข้าใส่ฐานทหารไทยที่ปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ตั้งแต่เมื่อเช้าวันที่ 24 ก.ค. 68 นั้น ปัจจุบันกองทัพบกได้รับรายงานเบื้องต้นจากส่วนราชการในพื้นที่ว่ามีพื้นที่พลเรือนตกเป็นเป้าหมายของอาวุธยิงสนับสนุนของฝ่ายกัมพูชา จนทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย รวมถึงมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ต่อมาศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา (ศบ.ทก.) ด้านความมั่นคง ได้แถลงสรุปสถานการณ์เหตุปะทะชายแดนไทย–กัมพูชา พร้อมยกมาตรการระดับ 4 ปิดด่านตลอดแนวชายแดน

ด้านฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณาม โดยอ้างว่าไทยรุกรานชายแดน เรียกร้องให้หยุดการยกระดับความขัดแย้ง เเละให้เร่งจัดประชุมด่วน ในระหว่างนั้น ทางฝั่งกัมพูชาก็ได้ใช้โซเชียลมีดียในการโต้ตอบ และสร้างกระแสปลุกปั่นสดงบทเหยื่อ ขณะเดียวกันก็ยังมีเฟคนิวส์เผยแพร่ออกมาทางสื่อโซเชียลมีเดียกันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

<นานาชาติเรียกร้องไทย–กัมพูชายุติความขัดแย้งเพื่อประชาชน>

เหล่าบรรดาผู้นำหลายๆ ชาติ ต่างออกแถลงการณืเรียกร้องให้ทั้งไทยและกัมพูชายุติการปะทะและเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาทิ

นายหลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เผยว่าไทยและกัมพูชาล้วนเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของจีน รวมถึงเป็นสมาชิกคนสำคัญของอาเซียน ปักกิ่งขอย้ำจุดยืนที่ “ยุติธรรมและเที่ยงธรรม” ปักกิ่งจะยังคงส่งเสริมการเจรจาสันติภาพ และมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการลดความตึงเครียดระหว่างไทย–กัมพูชา

สถานทูตสหรัฐฯในประเทศไทย ระบุว่า สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิต เราเรียกร้องอย่างจริงจังให้ยุติการโจมตีโดยทันที ปกป้องพลเรือน และระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี

อานูอาร์ เอล อานูนี โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าสหภาพยุโรปรู้สึกกังวลอย่างยิ่งกับรายงานเรื่องพลเรือนเสียชีวิต และเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก เราขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดระดับความรุนแรงและแก้ไขข้อพิพาทผ่านการเจรจาและสันติวิธีอื่นๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับฝรั่งเศส ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุปะทะด้วยอาวุธบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อคนที่พวกเขารัก ฝรั่งเศสเรียกร้องให้กัมพูชาและไทยยุติการสู้รบโดยทันที และแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น

จนกระทั่งล่าสุด ช่วงค่ำของวันศุกร์ (25 ก.ค. 68) ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปิดหน้าแถลงการณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะไทย–กัมพูชา หลักใหญ่ใจความคือการตอบโต้กัมพูชา ว่าไทยเราถูกกัมพูชาคุกคามโดยไร้ซึ่งมนุษยธรรม เป็นอาชญากรรมสงครามรุนแรงด้วยการโจมตีโรงพยาบาลและพื้นที่ชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่ ที่ผ่านมารัฐฐบาลอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ และเลือกที่จะใช้สันติวิธีภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และตามหลักมนุษยธรรมแล้ว แต่ฝ่ายกัมพูชาเลือกที่จะใช้กำลังทางทหารก่อน ขัดต่อกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักมนุษยธรรมอย่างรุนแรง

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับเลขาธิการสหประชาชาติ และส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงประณามการโจมตีที่เกิดขึ้นอีกด้วย และไม่ลืมที่จะแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

<เหตุปะทะไทย–กัมพูชากระทบเศรษฐกิจวงจำกัด แต่อาจฉุดความเชื่อมั่น>

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชาในด้านเศรษฐกิจโดยรวมว่ายังจำกัด หากเหตุปะทะยังระดับ “ไม่ลุกลามเป็นสงครามเต็มรูปแบบ” ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคยังค่อนข้าง “น้อย” เพราะใช้งบประมาณระยะสั้น ปกติไม่ถึง 3–7 วัน ซึ่งไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยสั่นคลอน แม้กระทบความเชื่อมั่นหรือกระทบด้านจิตวิทยาการลงทุน

แต่ถึงอย่างนั้นจะกระทบทันทีที่พื้นที่ชายแดน ภาคการค้าชายแดนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากความไม่แน่นอนหยุดชะงักการขนส่งสินค้า แต่มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศไม่สูง ดังนั้นหากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ อาจกระทบเฉพาะชั่วคราวเท่านั้น ประชาชนกัมพูชายังคงต้องการสินค้าไทยในชีวิตประจำวัน การคว่ำบาตรหรือหยุดนำเข้าไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ที่มีผลกระทบชัดเจนในหมู่เกษตรกร พ่อค้า และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว สินค้าผ่านด่านมีกลุ่มน้ำมัน สินค้าเกษตร และเครื่องดื่ม

ขณะที่การลงทุนไทยในกัมพูชาไม่กระทบมาก โครงการลงทุนจากไทยในกัมพูชายังไม่ได้รับผลกระทบใหญ่ ทั้งที่มีโรงงานและธุรกิจไทยดำเนินงานในพื้นที่ แต่ต้องระวังหากเหตุการณ์ปานปลายจนเกิดความรุนแรงเหมือนในอดีต

<ภาคแรงงานอาจกระทบบ้าง>

สิ่งที่ต้องจับตาคือ “แรงงานกัมพูชา” ที่อยู่ในไทยหากมีการเรียกแรงงานกลับประเทศ อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ในระดับเล็ก เนื่องจากขนาดแรงงานกัมพูชายังสัดส่วนน้อยกว่าของพม่า และโดยมากอยู่ในภาคก่อสร้าง

โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว รายงาน ณ สิ้นเดือน พ.ค. 68 ระบุว่าประเทศไทยมีแรงงานจากกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 512,184 คน โดยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มากสุด รองลงมาคือชลบุรี ขณะเดียวกันพบทำงานในกิจการก่อสร้างมากที่สุด รองลงมาเป็นกิจการต่อเนื่องการเกษตร

ดร.อมรเทพ สรุปก็คือสถานการณ์ปะทะชายแดนไทย–กัมพูชา มีผลกระทบในช่วงสั้นและระดับพื้นที่ แต่ยังไม่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม หากไม่ยืดเยื้อเกินสัปดาห์ และภาคการค้าระหว่างประเทศยังสามารถดำเนินต่อได้ในภายหลัง เพียงแต่ให้จับตาว่าจะมีความรุนแรงจะขยายวงกว้างหรือไม่ ซึ่งจะกระทบบรรยากาศการค้าและการลงทุนในอนาคต

<คลังยังเชื่อสถานการณ์ชายแดนยังกระทบเศรษฐกิจไม่มาก>

คุณลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากำลังอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชาที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก และหวังว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ อีกทั้งยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/68 จะยังขยายตัวได้ดี จากแรงส่งจากไตรมาส 1/68 ที่ GDP ขยายตัวได้ถึง 3.1% อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากแนวโน้มการส่งออกที่เติบโตได้ดี จากการเร่งส่งออกก่อนสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/68 นั้น อาจจะได้รับความเสี่ยงจากปัจจัยลบเรื่องความไม่สงบในชายแดนไทย–กัมพูชาบ้าง แต่เชื่อว่าสถานการณ์ตามแนวชายแดนไม่น่าจะยืดเยื้อนาน

ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดด่านชายแดนไทย–กัมพูชา ทั้ง 5 ด่าน ใน 3 Scenario คือ
1. กรณีฐานความตึงเครียดคลี่คลายได้เร็ว สามารถแก้ไขความขัดแย้งและฟื้นฟูสถานการณ์ค้าชายแดนได้ภายใน 1 เดือน จะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่อาจลดลง 11,600 ล้านบาท
2. กรณีความตึงเครียดยืดเยื้อปานกลาง สามารถแก้ไขความขัดแย้งและฟื้นฟูสถานการณ์ค้าชายแดนได้ภายใน 3 เดือน จะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่อาจลดลง 34,000 ล้านบาท
และ 3. กรณีเลวร้ายสุด ปิดด่าน 100% ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2568 จะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่อาจลดลง 55,000 ล้านบาท

<เศรษฐกิจจะกระทบขึ้นอยู่กับความรุนแรง>

SCB EIC ระบุว่าสถานการณ์ความขัดแย้งไทย–กัมพูชา คือแรงกดดันที่เป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจโดยขึ้นอยู่กับระดับของสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ยืดเยื้อ ก็ทำให้ผลกระทบมากขึ้น ทั้งนี้มีการสำรวจเศรษฐไทยใน 4 ส่วนสำคัญคือ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และแรงงาน

โดยในด้านการลงทุนใหม่ของธุรกิจไทยในกัมพูชามีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องมากขึ้น หากเหตุการณ์รุนแรง ธุรกิจเรียกพนักงานกลับจะเกิดการชะลอการลงทุนรอดูสถานการณ์ ในขณะที่การลงทุนทางตรงของไทยในกัมพูชา (Flow ปี 2024) คิดเป็น 1.7% ของการลงทุนไทยในต่างประเทศ แนวโน้มการลงทุนใหม่ถูกกดันจากความเชื่อมั่นที่ลดลง เพิ่มจากปัญหาภาษีสหรัฐและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยธุรกิจไทยที่มีการลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการและก่อสร้าง ซึ่งบางกิจการอาจมีความเสี่ยงจากประเด็นชาตินิยม

การท่องเที่ยวของไทย–กัมพูชามีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจังหวัดใกล้ชายแดนจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยนักท่องเที่ยวกัมพูชาส่วนใหญ่เดินทางทางบกผ่านจังหวัดชายแดน ณ พ.ค. 68 นักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาไทย 36,430 คน (–21%YOY) ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว

<ขัดแย้งไทย–กัมพูชายืดเยื้อกระทบตลาดหุ้นจำกัด>

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย–กัมพูชาหากยืดเยื้อ หรือยกระดับรุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย แต่กัมพูชาจะมีความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจอย่างเด่นชัดมากกว่า อีกทั้งจะมีผลกระทบจำกัดต่อตลาดหุ้นไทย เพราะมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจโดยตรงกันน้อย และไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยต่อหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50/SET100 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้จากกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งไทย–กัมพูชาจะคลี่คลายลงหรือยุติได้เร็ว ซึ่งจะหนุนให้ราคาหุ้นฟื้นตัวได้เร็ว

“สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิด นอกจากจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และการค้าขาย ท่องเที่ยว เศรษฐกิจที่ยังฟื้นไม่เต็มตื่น ก็อาจจะต้องซึมลงไปได้อีกหากสถานการณ์เลวร้ายยืดเยื้อ แต่เหนือสิ่งอื่นใดความปลอดภัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากที่สุด ทีมงาน BTimes ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับพ่อแม่พี่น้อง เจ้าหน้าที่ และทุกชีวิตในพื้นที่ชายแดนปลอดภัย ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปโดยเร็วด้วย…”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles