โควิด-19 กับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เส้นบางๆ ของความเชื่อมั่น

893
0
Share:

‘หมอพร้อม’ (ฉีด) คนไทยพร้อม (ฉีดดีไหม)

วัคซีนเปรียบเสมือนความหวังในการป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ของคนทั่วโลก ซึ่งประชาชนในหลายประเทศได้รับการฉีดวัคซีนกันไปแล้ว ขณะที่ประเทศไทยก็เดินหน้าลุยฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เสี่ยงสูง คู่ขนานไปกับการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ แต่ปัจจุบันการแพร่ระบาดยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยไม่น้อยมีอาการเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้เตียงไอซียูที่มีอยู่เริ่มไม่เพียงพอ เกิดเป็นเหตุน่าเศร้าใจเมื่อต้องพบเห็นการรายงานผู้เสียชีวิตรายวัน กระทั่งยอดเสียชีวิตสูงสุดโดดขึ้นไปแตะที่ 34 ราย… (12 พฤษภาคม 2564)

‘หมอพร้อม’ มาแล้ว แล้ววัคซีนละพร้อมหรือยัง ?
นับตั้งแต่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 สำหรับประชาชนจำนวน 16 ล้านคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และประชาชนที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วนที่สามารถลงทะเบียนได้ก่อนในเฟสแรก โดยรอบนี้จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และจะเริ่มทำการฉีดในเดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ส่วนกลุ่มประชาชนอายุ 18 – 59 ปี จำนวน 31 ล้านคนจะได้รับวัคซีนซีโนแวค (Sinovac) จะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 เป็นต้นไป โดยเปิดลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ออกมาให้ทั่วโลกอุ่นใจ แต่ระยะเวลาการระบาดนี้ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลกับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน สะท้อนจากสถิติการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ‘หมอพร้อม’ จากยอดเป้าหมาย 16 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 2 ล้านคนเท่านั้น (13 พฤษภาคม 2564)

จากการเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีคนไทยฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งหมด 2 ล้านโดส (13 พฤษภาคม 2564) มีรายงานข่าวว่ามีบางคนได้รับผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่น มีผื่นแดง มีอาการชา มีอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง จนต้องทำการ Activate Stroke Fast Track เป็นต้น ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มมีความกังวลในการฉีดวัคซีน แม้ว่าคนที่ฉีดวัคซีนส่วนมากจะไม่มีอาการก็ตาม

ทำให้มีคนบางกลุ่มตั้งคำถามว่าผ่านโซเชียลมีเดียว่าทำไมคนไทยจึงไม่มีโอกาสเลือกยี่ห้อวัคซีนที่จะฉีดได้ แต่ก็หวังว่าอีกไม่นานคนไทยน่าจะมีตัวเลือกมากขึ้น เพราะตอนนี้ อย. ได้ทำการขึ้นทะเบียนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา (Moderna) เรียบร้อยแล้ว นับเป็นวัคซีนโควิดตัวที่ 4 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ทั้งในเรื่องของการลดความรุนแรงและการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด และแม้ว่าวัคซีนโควิด-19 จะถูกพัฒนาในเวลาอันรวดเร็วกว่าวัคซีนชนิดอื่นที่ใช้เวลาเฉลี่ย 10 ปี แต่กระบวนการติดตามความปลอดภัยก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นหรือย่อหย่อน อีกทั้งตอนนี้มีการใช้วัคซีนมากกว่า 1,000 ล้านโดสทั่วโลก (24 เมษายน 2564) มีรายงานการเจ็บป่วยรุนแรงที่มีสาเหตุโดยตรงจากวัคซีนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก

ซึ่งสอดคล้องกับที่นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวไว้ว่า “ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมีตัวเลขประมาณ 4 คน ผลข้างเคียง หรือผลไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ติดโควิด-19 ตัวเลขของโลกในวันนี้ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คนซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมากมายเหลือเกินผมขอความกรุณาในวันนี้ การฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อคนที่ท่านรักเพราะท่านจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนเหล่านั้นถ้าเราฉีดกันได้เยอะพอและทันเวลาเรากำลังจะช่วยประเทศเพราะโควิด-19 จะอยู่ไม่ได้ถ้าคนในประเทศไทยมีภูมิคุ้มกัน”

จากที่คุณหมอได้กล่าวไว้โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนถือว่าจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน คือควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรง และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย กังวลได้ แต่อย่าวิตกจนกระทบจิตใจมากเกินไป หากเกิดอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคนว่าพร้อมหรือไม่พร้อมในการฉีดวัคซีน ซึ่งหน้าที่สำคัญที่รัฐบาลควรจะทำคือการเร่งสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และบอกข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจว่าควรจะเลือกฉีด หรือ ไม่ฉีด ‘วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19’

BTimes