กทม.สั่งปิดร้านอาหารทาปาส เซ็นทรัลเวิลด์ ทำผิดกฎหมายขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงคุมโควิด-19

492
0
Share:

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบพบว่ามีสถานประกอบการฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 44) ลงวันที่ 15 ต.ค. 64 ข้อ 1.5 โดยตรวจพบว่ามีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้รับบริการ จึงได้ออกคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวในพื้นที่เขตปทุมวันและคลองเตย จำนวน 2 แห่ง ดังนี้

วันที่ 16 ต.ค. 64 ร้านอาหารในอาคารโคเรียทาวน์ เขตคลองเตย มีการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีได้เข้าตรวจสอบพบการกระทำผิดกรณีฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 44 พร้อมได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคตาม พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และสั่งปิดสถานประกอบการดังกล่าว 7 วัน ระหว่างวันที่ 16 – 22 ต.ค. 64 ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยสำนักงานเขตคลองเตยได้ตรวจสอบการประกอบกิจการดังกล่าวได้รับอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ตาม พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พร้อมนี้ สำนักงานเขตคลองเตยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังร้านดังกล่าวมิให้มีการกระทำผิดกรณีดังกล่าวอีก ทั้งนี้กรณีการฝ่าฝืนดังกล่าวถือเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่ง พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 18 ต.ค.64 ร้านอาหารแห่งหนึ่งในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ตรวจสอบพบว่ามีการฝ่าฝืนบริโภคสุราภายในร้าน จึงได้จับกุมผู้กระทำความผิด ร่วมกันมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในสถานที่แออัด ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมชุม กระทำกิจกรรม การมั่วสุม ซึ่งก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่า 2019 (โควิด- 19) ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 อยู่ระหว่างส่งฟ้องศาลสำนักงานเขตปทุมวันได้ตรวจสอบแล้วร้านดังกล่าวพบว่าประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงห้ามประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พรบ.การสาธารณสุข และสั่งปิดสถานประกอบการดังกล่าว 14 วัน ระหว่างวันที่ 19 ต.ค.64 – 1 พ.ย.64 ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าให้ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และ ประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการในข้อกำหนดของทางราชการเพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด -19 อาทิ การปฏิบัติตามมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น ให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การจัดให้มีจุดบริการเจลล้างมืออย่างทั่วถึงเพียงพอ และจัดให้มีเครื่องมือสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้า – ออกสถานที่ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบว่ามี กิจกรรม/กิจการ ใด ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงการจัดกิจกรรม หรือรวมตัวทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานที่ต่าง ๆ หรือสถานที่ที่เป็นแหล่งมั่วสุมหรือการรวมตัวเล่นการพนันในพื้นที่ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วน กทม. 1555 หรือสายด่วนโควิด 50 เขต ซึ่งนอกจากการรับแจ้งเรื่องขอเข้าสู่ระบบการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังได้เพิ่มภารกิจการรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่และเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด