Jun 13, 2024
‘แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป’ จากเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโมจิเจ้าดังในตลาดนัด สู่ไอศกรีมผลไม้สัญชาติไทยที่ทุบรายได้ส่งออก 800 ล้านบาทใน 5 ปี
รู้กันหรือไม่ว่า ‘ไอศกรีม’ เป็นหนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อที่สร้างรายได้ให้ภาคการส่งออกของไทย โดยในปี 2566 ทำมูลค่าได้สูงถึง 148.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7.3% ดันให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ในเอเชีย และอันที่ 4 ในโลก จากความน่าสนใจนี้ BTimes จึงอาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับธุรกิจไอศกรีมผลไม้เลือดนักสู้ที่ปั้นรายได้จากติดลบเป็น 800 ล้านบาทได้ใน 5 ปี
ยังจำไอศกรีมโมจิเจ้าดังในตลาดรถไฟในหลายปีก่อนได้ไหม? จะบอกว่านี่หละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป ถือกำเนิด ซึ่งคุณฐานพงศ์ จุ้ยประเสริฐ เล่าให้ฟังถึงที่มาว่าเขาและภรรยาสูญเสียลูกสาวไปในช่วงอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย ทำให้ความเศร้ากัดกินจิตใจ จนต้องหาอะไรทำเพื่อให้แต่ละวันผ่านพ้นไป กอปรกับสมัยที่ลูกสาวยังมีชีวิตอยู่อยากทานไอศกรีมโมจิมาก แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทานสักที จุดนี้ทำให้เขาตัดสินใจสานฝันลูกสาว ทำแบรนด์ ‘Mochilato’ เพื่อส่งต่อไอศกรีมแสนอร่อยให้กับลูกค้า โดยวางจำหน่ายครั้งแรกที่ตลาดนัดรถไฟ ปรากฏว่าผลตอบรับที่ได้ ดีเกิดคาด ‘Mochilato’ กลายเป็นของหวานยอดฮิตที่ใครมาก็ต้องแวะชิม พร้อมเช็คอินอวดเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ ต่อยอดจากร้านค้าเล็กๆ ในตลาดนัดสู่แฟรนไชส์ทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านกว่า 300 สาขาภายใน 3 ปี
เพราะเป้าหมายมีไว้พุ่งชน เมื่อความสำเร็จที่ได้แตะครบทุก Goals คุณฐานพงศ์จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาลุยปั้นแบรนด์เต็มตัว และเส้นทางธุรกิจก็ดำเนินด้วยดีมาตลอด กระทั่งมาเจอพิษโรคระบาดโควิด–19 การล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จนคุณฐานพงศ์ต้องหาทางรอดด้วยการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา และบังเอิญไปเห็นว่าสับปะรดประสบปัญหาราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรีต้องตัดใจเทขายทิ้งเป็นจำนวนมาก เขาจึงเข้าไปรับซื้อ เพื่อนำมาทดลองและพัฒนาต้นแบบไอศกรีมผลไม้บรรจุในบรรจุภัณฑ์จากผลไม้ชนิดนั้นๆ แล้วนำไปฝากเพื่อนโชว์ตัวในงาน THAIFEX จนไปสะดุดตา และมีการสั่งสินค้าล็อตแรกเข้ามามากถึง 5 ตู้ แต่แล้วก็ต้องตื่นจากฝันมาพบกับความจริงว่าเขาไม่ได้มีโรงงานเป็นกิจจะลักษณะเพื่อรองรับการผลิตจำนวนมากได้ จึงหันไปปรึกษาเพื่อนสนิทที่ลงทุนร่วมกัน และไปจบที่การสร้างโรงงานบนพื้นที่ 100 ตารางวาใกล้กับที่ผลิตไอศรีมโมจิ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าเส้นทางต่อไปน่าจะไปได้สวยใช่ไหม? แต่ผลลัพธ์กลับไม่ใช่อย่างนั้น แม้จะมีโรงงานรองรับ แต่ไลน์การผลิตก็กลับไม่เป็นไปตามคุณภาพที่วางไว้ ออร์เดอร์ 5 ตู้แรกก็เฟลไปในที่สุด และตามมาด้วยหนี้มหาศาลกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อการต่อสู้ไม่เป็นดั่งฝัน ฮึดมากเท่าไรก็เจ็บมากเท่านั้น ทำให้คุณฐานพงศ์ตัดสินใจยอมแพ้ แล้วเข้าไปขอโทษเพื่อน พร้อมยืดอกรับหนี้ก้อนนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่นี่อาจจะเป็นเหมือนของขวัญให้กับนักสู้ เพราะเพื่อนของเขาไม่ได้โกรธแต่อย่างใด กลับกันกลับบอกให้เขาลองฮึดอีกสักตั้ง เผื่อครั้งนี้โชคจะเข้าข้าง คุณฐานพงศ์จึงใช้ลมหายใจเฮือกสุดท้ายลุยศึกษางานวิจัยอย่างจริงจัง คู่ไปกับหาเงินลงทุนก้อนใหม่เข้ามาผยุงธุรกิจให้เดินต่อ กระทั่งความตั้งใจดีส่งผลสำเร็จ และไอศกรีมผลไม้ล็อตใหม่จากแม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป ถูกส่งไปยังประเทศเกาหลีใต้ได้ในที่สุด หลังจากฝ่ามรสุมจนมาเจอกับฟ้าที่สดใส ไม่เพียงแต่ปลดหนี้กว่า 10 ล้านได้ใน 1 ปี แต่ยอดสั่งซื้อก็หลั่งไหลเข้ามามาก จนต้องทำการขยายธุรกิจผ่านการระดมทุน เพื่อนำไปพัฒนาโรงงานให้สามารถรองรับการผลิตจำนวนมากได้
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของแม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จะเน้นเป็นการ OEM โดยแบ่งสัดส่วนเป็นในประเทศ 1% และส่งออก 99% ไปยังต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย และเร็วๆ นี้กับตลาดใหม่ที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจไม่ได้มีแค่คุณภาพ แต่คุณฐานพงศ์ยังส่งทีมงานลงไปทำการวิเคราะห์ผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อนำกลับมาออกแบบรสชาติและบรรจุภัณฑ์ไอศกรีม รวมไปถึงการเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายให้ตรงใจกับผู้บริโภคในพื้นที่ เรียกได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็น One Stop Service ที่ลูกค้าสามารถมาใช้บริการผลิตไอศกรีมได้ครบตั้งแต่ขั้นตอนการปรุง การผลิต การขออนุญาตจัดจำหน่าย ไปจนถึงเอกสารการส่งออก
ความสำเร็จไม่ได้จบแค่เพียงเท่านี้ แต่หมุดหมายต่อไปที่คุณฐานพงศ์ตั้งไว้คือการพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ คู่ไปกับการเป็นผู้ส่งออกอาหารทุกแขนงให้ได้ภายในปี 2568