อ่านเทรนด์ AI ปี 2025 เจาะลึกไทมไลน์ ฝ่าทางตัน หาทางรอดให้ธุรกิจคนไทยในยุค AI ไปกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำงาน ที่หลายคนและหลายองค์กรเลือกที่จะผนวกความสามารถของ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการแทนมนุษย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางการกระทำ AI ยังไม่สามารถทดแทนได้แบบ 100% และวันนี้ BTimes จะขอพาทุกท่านไปเจาะลึกเทรนด์ AI กับธุรกิจในอนาคตกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
![ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พูดเรื่อง AI เทรนด์](https://btimes.biz/wp-content/uploads/2025/01/BTimes-AI-TDRI-2-01.jpg)
ดร.สมเกียรติเล่าให้ฟังว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงประมาณ 60–70 ปีก่อน โดยยุคแรก AI จะทำงานในรูปแบบแชตบอท เป็นการถามมาตอบไปแบบง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อน เช่น หากเราบอก AI ว่า ‘วันนี้เหนื่อยจัง’ AI ก็จะถามเรากลับมาว่า ‘ทำไมคุณเหนื่อย’ เป็นต้น ต่อมาในช่วงปี 2000 AI ถูกพัฒนาให้มีความฉลาดขึ้นมาอีกระดับ ด้วยการถอดองค์ความรู้จากมนุษย์มาออกแบบเป็นชุดคำสั่ง แต่กระบวนการนี้ค่อนข้างใช้เวลาและมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก
![AI Technology](https://btimes.biz/wp-content/uploads/2025/01/BTimes-AI-TDRI-1.jpg)
แต่แล้วการปฏิวัติครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในช่วงปี 2015 AI ถูกวิวัฒน์ด้วยการนำตัวอย่างจากฐานข้อมูลในโลกออนไลน์ขึ้นมาวิเคราะห์ แล้วสร้างให้เกิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จนสามารถเอาชนะแชมป์โลกหมากล้อมได้
วิวัฒนาการของ AI ยังไม่จบ แต่เมื่อราวๆ 2 ปีที่ผ่านมา AI ถูกพัฒนาอีกครั้งจนเกิดยุคที่เรียกว่า Generative AI หรือ Gen AI ซึ่งไม่เพียงแต่แต่งกลอน วาดภาพ และสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเองได้ แต่ยังถูกนำมาใช้ในการคัดแยกเกรดปลาดิบ หรือแม้แต่การคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา เพื่อตรวจหาโรคจอประสาทตาเบาหวาน
และในปี 2025 กูรูในแวดวงเทคโนโลยียังได้คาดการณ์ว่า AI จะถูกอีโวลต์ร่างขึ้นมาอีกเลเวลจนเกิดยุค ‘AI Agent’ หรือ ‘Agentic AI’ ที่ AI เป็นมากกว่าโปรแกรมให้ข้อมูล แต่จะช่วยมนุษย์ทำงานในบางขั้นตอนที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมผ่านการเชื่อม API หลายตัว เพื่อยกระดับความสามารถในการทำงาน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบง่ายๆ เช่น เมื่อเราทำการคุยกับ AI Agent ว่าเราอยากไปเที่ยวยุโรป แต่จะไปประเทศไหนดี ทาง AI Agent จะทำการให้ข้อมูล พร้อมช่วยจองตั๋วเครื่องบินให้เราได้ เป็นต้น อีกทั้งยักษ์ด้านเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft และ Google ก็ได้เริ่มประกาศแผนพัฒนา Agentic AI และเตรียมออกผลิตภัณฑ์ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงที่สามารถตัดสินใจและทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่องค์กรตั้งไว้ได้
แม้ความฉลาดของ AI จะสามารถช่วยเหลือและแบ่งเบางานของมนุษย์ได้ แต่ในทางกลับกันก็มีความอันตรายแฝงอยู่ หากถูกนำไปใช้กับงานผิดลักษณะ งานที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบภาครัฐหรือกฎหมาย
![](https://btimes.biz/wp-content/uploads/2025/01/BTimes-AI-TDRI-3.jpg)
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่า AI กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการทำงานจนกระทบกับแรงงานมนุษย์ใช่หรือไม่? เพราะหากอิงจากข่าวสารที่ออกมาตลอดทั้งปี 2024 จะเห็นว่าหลายบริษัทเลือกที่จะปลดแรงงานมนุษย์ แล้วนำแรงงาน AI เข้ามาแทนที่ แต่ในมุมมองของ ดร.สมเกียรติ กลับบอกว่าทางรอดของมนุษย์คือการปรับตัว เรียนรู้ และดึงเอาข้อดีของเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับการทำงาน โดย ดร.สมเกียรติได้แยกย่อยคนออกเป็น 4 กลุ่ม ให้เห็นชัดๆ ว่าคนกลุ่มใด จะอยู่รอดหรือลำบากในยุค AI ดังนี้
กลุ่มที่ 1: ไซบอร์ก (Cyborg) กลุ่มคนเก่งที่รู้จักการประยุกต์การใช้ AI โดยคนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ชนิดที่ว่าหาเพดานจำกัดยากมาก เพราะนอกจากจะเก่งแล้ว ยังสามารถปรับตัว นำข้อดีของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มที่ 2: คนไม่เก่ง แต่รู้จักประยุกต์การใช้ AI โดยคนกลุ่มนี้จะก้าวเข้ามาชิดกับคนกลุ่มไซบอร์กมากขึ้น แต่ยังไล่ไม่ทัน เพราะทักษะของคนกลุ่มนี้อาจจะยังสู้คนกลุ่มไซบอร์กไม่ได้
กลุ่มที่ 3: คนเก่งที่ปฏิเสธการใช้ AI คนกลุ่มนี้แม้ตัวบุคคลเองจะมีความเก่ง แต่ก็ไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี และท้ายที่สุดทักษะหรือความรู้ที่เคยทำได้ดี ก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะเลือกที่จะไม่ใช้ AI เข้ามาทุ่นแรงและเวลาในการทำงาน
กลุ่มที่ 4: คนที่ไม่ค่อยเก่ง แถมยังปฏิเสธการใช้ AI แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สู้กับทั้ง 4 กลุ่มไม่ได้อย่างแน่นอน
“อย่าไปทำแข่งกับเขาในสิ่งที่เขาจะทำอยู่แล้ว แข่งก็เจ๊ง แต่มีอะไรที่เขาไม่ทำ เราเติมเข้าไปแล้วนำเอามาประยุกต์ใช้ ผลตอบแทนจะสูงสุดไม่ใช่การพัฒนาเอง แต่คือการประยุกต์ใช้”
ทั้งนี้ หากถามว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาโมเดล AI สัญชาติไทยได้ไหม ดร.สมเกียรติ ได้เล่าให้ฟังว่าในอดีตเคยมีเพื่อนที่ทำบริษัท Search Engines ภาษาไทย แต่สุดท้ายเมื่อผู้เล่นเบอร์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย ก็จำต้องปิดตัวลง เพราะมองว่าเมื่อโลกมีบริษัทที่แข็งอยู่แล้ว หากเราเป็นเบอร์เล็กที่กล้าจะกระโจนเข้าไป แน่นอนว่าต้องแบกรับความเสี่ยงมหาศาล ในทางกลับกันเราควรที่จะประยุกต์ใช้ และคิดค้นในส่วนที่ขาด เพื่อเข้าไปเติมเต็มให้ระบบหรือฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์มากขึ้น