ยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่ประเทศรายได้สูง ด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา
“ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้แข่งขันกันที่การผลิตและขายสินค้า แต่เป็นการแข่งขันด้วยการสร้างเทคโนโลยีและขายนวัตกรรม”
ประโยคข้างต้นที่กล่าวไปดูจะไม่เกินจริง เห็นได้จากการที่หลายๆ ประเทศพยายามที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ รวมถึงเอื้อให้คนในประเทศ หรือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเชิงบวกกับธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตจากนวัตกรรมเหล่านั้น
หากจะเจาะลึกให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น คงต้องหยิบเอาประเทศที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นขึ้นมาย้อนไทม์ไลน์ให้ดูว่ากว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 4 ของโลกได้ ต้องอาศัยการระดมสมองเพื่อวางกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นยกธงขาวยอมรับความพ่ายแพ้ในสงครามอย่างเป็นทางการ พร้อมอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกา รวมถึงแบกรับความเสียหายมหาศาล ผู้มีอำนาจและประชาชนทุกชนชั้นต้องจำนนต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน แต่เพราะการเมืองและระบบการศึกษาที่ดีกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถซ่อมแซมระบบเศรษฐกิจและพัฒนาตัวเองกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการหันไปให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ มากไปกว่านั้นยังมีการส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นศึกษาและนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาประยุกต์ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมในแบบฉบับที่เป็นสไตล์ของญี่ปุ่นเอง
จากการปรับตัวของประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้น ทำให้มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นมากมาย จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก พลิกฟื้นจากประเทศแพ้สงครามขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมูลค่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องอาศัยกลไกที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็นตัวกลางในการยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของ ส่งผลให้ทรัพย์สินทางปัญญากลายเป็นกรอบกฎหมายที่ทั่วโลกขาดไม่ได้ โดยประเทศไทยก็ต้องการที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมเช่นกัน สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ที่เผยว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ คือยุคที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากทำมากได้น้อยเป็น ‘ทำน้อย ได้มาก’ เพื่อให้ประเทศมีรายได้ที่สูง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และยกระดับไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศไทยชินกับการเป็นผู้รับผลิตสินค้าและขายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากกว่า กอปรกับประเทศมหาอำนาจหลายก็เริ่มเข้ามาแข่งขันในด้านการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า สินค้าที่ราคาถูกกว่า ถ้าผู้ประกอบการไทยไม่เร่งปรับตัว เกมการแข่งขันนี้ก็อาจจะต้องเหนื่อยกันพอสมควร
โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ DIP ก็มองเห็นโอกาสและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจไทยได้มีพื้นที่เสนอขายองค์ความรู้ ฝีมือ และวัฒนธรรม ผ่านนโยบายการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ใน 11 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น แฟชัน หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัลและดนตรี อาหาร การออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ศิลปะ และกีฬา ที่หากจะพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนการประยุกต์เอาองค์ความรู้ต่างๆ ไปทำให้เกิดรายได้ในเชิงพาณิชย์ การมีสิทธิบัตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะสิทธิบัตร ก็คือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่ยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าขององค์ความรู้และนวัตกรรม ข้อมูลสิทธิบัตรจึงถูกมองได้ว่าเป็นตัวชี้นำอนาคตโลก ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จะถูกพัฒนาไปในด้านไหน
นอกจากนี้ สิทธิบัตรยังมีความสำคัญและเกี่ยวข้องในทุกอุตสาหกรรม เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นเทคโนโลยี และ โอกาสในอนาคต อธิบายให้เห็นภาพหากบริษัทหนึ่งจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเสนอขายให้กับตลาด แต่ละบริษัทก็ต้องมีการคิด วางแผน วิเคราะห์แนวโน้ม ซึ่งข้อมูลจากสิทธิบัตรจะเป็นตัวตั้งต้นและเป็นตัวช่วยชี้กำหนดทิศทางว่าในแต่ละปีจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางใดให้สอดรับกับเทรนด์การเติบโต โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมไปได้อย่างหลากหลาย ในที่นี้ขอหยิบยกขึ้นมาอธิบาย 2 อุตสาหกรรม ได้แก่
- อุตสาหกรรมแฟชัน
อุตสาหกรรมนี้มีความท้าทายค่อนข้างสูง เพราะมีผู้เล่นรายใหญ่อย่างจีน สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่กลุ่มประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่เขาเดินเกมนี้มาก่อน และหากมองอุตสาหกรรมนี้แบบผิวเผิน เราอาจจะมองเห็นแค่มิติที่เกี่ยวกับการแต่งตัว ความสวยงาม แต่ข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้เรามองเห็นรายละเอียดในการนำมุมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำ Data Processing หรือระบบประมวลผลด้วย AI เข้ามาใช้ เช่น Hyper-Personalization การปรับแต่งเฉพาะบุคคลที่มีรายละเอียดสูง ตลอดจนการพัฒนาด้านการออกแบบ เพื่อตรึงใจทั้งคนไทยและต่างชาติ หรือแม้แต่การลดช่องว่างในการทำงานด้วยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Information and Communication Technology (ICT) มาปรับใช้ เช่น Metaverse Makeover ด้าน Data Transmission หรือการถ่ายโอนข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ต่อเนื่องการใช้วัตถุดิบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน หรือ Sustainable Fashion ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม ไม่เว้นแม้แต่การเลือกใช้วัสดุ เพื่อการขึ้นรูปสินค้าต่างๆ การใช้เทคนิค 3D-Printed เพื่อขึ้นรูปให้กับรองเท้าและเครื่องประดับ เป็นต้น หากไทยจับจุดขายด้านเอกลักษณเฉพาะตัว วัสดุท้องถิ่น และการออกแบบ ที่เป็นจุดแข็งมาประยุกต์รวมกับองค์ความรู้ใหม่ รังสรรค์ให้เกิดเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาสไตล์ไทยได้ ก็คงสร้างเม็ดเงินที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากทีเดียว
- อุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์
สำหรับอุตสาหกรรมนี้ ยังมีการเติบโตในภาพรวมอยู่เรื่อยๆ โดยในด้านนี้ประเทศที่มีเทคโนโลยี ในระดับที่เป็น Big player ก็มีอยู่มากไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เทรนด์ของการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ก็มีมากถึง 6 ด้าน สำคัญ ได้แก่ การประมวลผลข้อมูล เครื่องดนตรี อุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้าง บันทึก หรือขยายเสียง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เครื่องมือการศึกษา และการสื่อสารด้วยภาพ
จากการวิเคราะห์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่าอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ ได้เน้นไปในส่วนของการพัฒนาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเสียงเป็นหลัก ผู้เล่นส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ เช่น Yamaha/Samsung Electronics และ Sony เป็นต้น
ทั้งนี้ การกำหนดนโบบายรัฐ ตลอดจนการทำงานร่วมของภาคเอกชน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการนำเอาเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามาประกอบ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการณ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้