ถอดยุทธศาสตร์เวียดนาม เดินเกมเศรษฐกิจสไตล์ไผ่ลู่ลม งัดไม้ตายกระชับความสัมพันธ์และถ่วงดุลการค้ากับชาติมหาอำนาจ

(ขอขอบคุณรูปจาก Tường Chopper, www.pexels.com)
อย่างที่ทราบกันดีว่า ณ ตอนนี้ ‘เวียดนาม’ กลายเป็นประเทศม้ามืดที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากเศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะเขย่าโลกไปแล้วกับการโตถึงเกือบๆ 7% แถมนายกเวียดนามยังกล่าวอย่างมั่นใจว่ายังไงเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ก็จะไปต่อได้ถึง 8% ยิ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากในเวทีโลก
เวียดนาม เดินเกมรุกเศรษฐกิจสไตล์ไผ่ลู่ลมภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง
ตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าผู้นำเบอร์ตองในหลายทวีป ต่างตบเท้าเข้าเยือนเวียดนามเป็นจำนวนมาก ไล่มาตั้งแต่อดีต ปธน.สหรัฐ อย่าง โจ ไบเดน ตามต่อด้วยวลาดิเมียร์ ปูติน หรือแม้แต่สี จิ้งผิง ซึ่งถือเป็นสัญลักษ์ทางอำนาจ ทั้งด้านการทหาร ด้านการเมืองระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจ ก็เลือกที่จะเข้ามาสร้างสัมพันธ์และเจรจาการค้าการลงทุนกับเวียดนาม โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาผู้นำของประเทศฝรั่งเศสอย่าง เอมมานูเอล มาครง ก็ยังเดินทางมากระชับความสัมพันธ์ พร้อมยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน นับเป็นการเยือนเวียดนามครั้งใหม่ในรอบเกือบ 10 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิฐ อำนวยเงินตรา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของเพจ Dr.VietNam ยังเสริมต่อว่าแม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเดินทางมาเยือนเวียดนาม เพื่อพูดคุยโปรเจค The Trump Oraganization หลังจากที่ได้รับการเชื้อเชิญจากผู้นำไปเมื่อต้นปี
กลับมาถึงประเด็นร้อนที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างเรื่องนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เปิดเกมก็เล่นเอาเวียดนามถึงกับช็อค เพราะแว่วๆ ว่าไม่รอดที่จะโดนเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราที่สูงลิ่วถึง 46% เหมือนชาติอื่นๆ ส่งผลให้เวียดนามเร่งเข้าเจรจา ซึ่งผลลัพธ์จากการพูดคุยที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้งก็ดูจะเอนไปในทิศทางที่ดี เพราะแว่วมาว่าสหรัฐส่อแววจะลดการเก็บภาษีกับเวียดนามลงมาอยู่ในช่วง 15–22% แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูผลการเจรจาครั้งถัดไปที่กำลังเกิดขึ้นอีกที
อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่เป็นข้อได้เปรียบของเวียดนาม ก็คือการบาลานซ์ความสัมพันธ์และถ่วงดุลอำนาจด้วยไม้ตาย ‘ยอมทุกทาง’ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 เจ้าของสายการบินสัญชาติเวียดนาม Vietjet Air ได้เดินทางไปยังคฤหาสน์สุดหรูเพื่อพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจ จนเกิดเป็นดีลขนาดย่อมในการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งจากสหรัฐเพิ่มเติม รวมถึงแก้กฎหมายให้บริษัทสตาร์ลิงก์ของอีลอน มัสก์ สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ อีกทั้งยังอนุมัติให้ The Trump Organization ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาลงทุนสร้างรีสอร์ทและสนามกอล์ฟ ที่จังหวัดฮึงเอียน ได้เป็นที่สำเร็จ อีกทั้งล่าสุด The Trump Organization ยังเกริ่นๆ ว่าบริษัทอยากจะสร้าง Trump Tower ที่นครโฮจิมินห์อีกด้วย ซึ่ง ดร.พิสิฐ ก็มองว่าการอนุมัติโครงการทั้งหมดนี้ เปรียบเสมือนการเปิดโอกาสให้ดีลการเจรจาขอลดอัตราภาษีในครั้งที่ 3 ที่กำลังเริ่มต้น ดูจะเป็นเรื่องที่สิทธิ์ประสบความสำเร็จสูงทีเดียว
สหรัฐ ไม่ใช่ชาติมหาอำนาจเดียวที่เวียดนามยอมอ่อนข้อ แต่ในฟากยุโรปและจีน เวียดนามก็ยอมโอนอ่อนกับบางข้อตกลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้เครื่องบินที่ผลิตในประเทศจีนสามารถใช้เชิงพาณิชย์ในเวียดนามได้ ส่งผลให้สายการบินแห่งชาติ Vietjet Air ตัดสินใจเช่าเครื่องบิน COMAC พร้อมเปิดเส้นทางบินกรุงฮานอย–เกาะกงด๋าว ซึ่งมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา
และถึงแม้กราฟการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและการบริการจะพุ่งดี 7–8% แต่กลับกันภาคการเกษตรก็ยังเติบโตในอัตราที่ต่ำ จนกระทบถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลพยายามที่จะปฏิรูปโครงสร้างเพิ่มเติม อาทิ การอนุมัติโครงการทางรถไฟเชื่อมต่อกับจีน เพื่อกระชับสัมพันธ์และเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ
กลับมาในส่วนของ ‘ไทยและเวียดนาม’ ที่ถูกยกให้เป็นคู่ชกทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายต่างจับตา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวียดนามถือไพ่เหนือกว่าไทยตรงที่รัฐบาลมีความเด็ดขาดในการเดินเกมสูง ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ จากกรณีสินค้าจีนทะลักเข้าหลายประเทศ ซึ่งไทยคือจุดหมายหลักที่ถูกโจมตี จนหลายหน่วยงานต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมสักที ตรงข้ามกับเวียดนามที่ก่อกำแพงตั้งรับด้วยการออกกฎระเบียบให้ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน จำเป็นต้องจดทะเบียนการค้า จดภาษีมูลค่าเพิ่ม และตั้งสำนักงานการค้าในเวียดนาม ส่งผลให้ยักษ์อย่าง Temu และ Shein ที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลงข้างต้นได้ จำต้องถอยทัพกลับประเทศไปในที่สุด