ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททุกอาชีพทั่วไทย ใบเบิกทางสู่ 600 ในปี 2570 นายจ้างโอดต้นทุนขึ้นพรวด ทิ้งน้ำหนักให้ประชาชนเป็นเดอะแบกควักเงินจ่ายค่าสินค้าและบริการแพงขึ้น
เมื่อช่วงวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่เป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงาน เพราะแรงงานนับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ได้บอกข่าวดีกับบรรดาผู้ใช้แรงงาน โดยการประกาศจะปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทอัตราเดียวกันทั่วประเทศ
โดยท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ในทุกกิจการ ทุกอาชีพ ทุกจังหวัด ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการประกาศประกาศไว้ในปี 2567 แต่จะยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากต้องมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ต้องมีการศึกษาข้อมูลต่างๆ ว่ากิจการใดที่มีความพร้อมหรือไม่พร้อม และถ้าไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งนับจากนี้ยังมีระยะเวลาอีก 5–6 เดือนในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะกลุ่มSME ที่เป็นผู้ถือครองแรงงานมากที่สุด
รัฐมนตรีแรงงาน กล่าวอีกว่าแม้การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายของรัฐบาลชัดเจน แต่เมื่อประกาศไปแล้วต้องมีการดำเนินการให้สมบูรณ์ ให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SME สามารถเดินต่อไปได้ด้วย หลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะเชิญเจ้าของธุรกิจ และ SME มาหารือกัน
ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐมนตรีแรงงาน บอกอีกว่าที่ผ่านมามีสมาคมธุรกิจโรงแรมเข้ามาพบกับตนและแจ้งว่าพร้อมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ยังขอให้รัฐบาลช่วย Up Skills – Re Skills ให้พนักงานด้วย ซึ่งจะนำข้อเสนอนี้ไปหารือกับนายกรัฐมนตรีว่าในการดำเนินงานต้องใช้งบประมาณเท่าไร และต้องทำอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีแรงงานที่จะไปของบประมาณกลางมาทำการดำเนินการ
แม้รัฐบาลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำในภาพรวมทุกอาชีพทั่วประเทศ แต่หากอาชีพไหนไม่ไหวก็ขอให้แจ้งรัฐบาล เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนให้เดินหน้าได้ต่อไป
ที่สำคัญคือในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทั่วประเทศจะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย ไม่ว่าจังหวัดนั้นจะเป็นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่เดิมมีการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2 บาท ครั้งนี้จะปรับให้อยู่ในอัตราส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่จะเดินหน้าไปสู่วันละ 600 บาทในปี 2570
ด้านคุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กลับมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีเศรษฐกิจต่างกัน มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะเป็นประเทศเล็กๆ ถ้าหากค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกพื้นที่ ก็จะไม่เกิดแรงจูงใจให้ลงทุนในพื้นที่ห่างไกล จะมีการย้ายฐานการลงทุนมากระจุกอยู่ในเมือง
การปรับค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศมาเป็น 400 บาทต่อวัน ก็จะทำให้มีจังหวัดที่ต้องปรับค่าจ้างแบบกระชาก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 330 บาท ก็จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำกระชากขึ้นมากว่า 20% สุดท้ายจะส่งผลกับราคาสินค้าและบริการต้องปรับขึ้นในระยะยาว เพราะถ้าไม่ปรับก็ตาย ปรับก็เสี่ยง ของแพงแน่นอน
ขณะที่ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น ไม่สามารถทำได้ทุกธุรกิจ และการขึ้นเพียงไม่กี่บาท ไม่ได้สร้างผลดีต่อแรงงานโดยภาพรวม อีกทั้งการขึ้นค่าแรงแบบนำร่องอย่างที่ผ่านมาเป็นการทำที่ผิดหลักเกณฑ์ ทั้งที่ในความเป็นจริงบอร์ดควรดูแลลูกจ้าง ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง และควรพิจารณาในอุตสาหกรรมที่มีปัญหาและมีค่าแรงที่ต่ำ ในอุตสาหกรรมที่มีค่าแรงสูงอยู่แล้วควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปปกติ
อีกทั้งสูตรการปรับค่าแรงเป็นสูตรที่คิดผิดตั้งแต่ต้นปี จึงไม่มีสัญญาณตอบรับจากนายจ้าง ทำให้การปรับค่าแรงที่ผ่านมา แทบจะไม่มีผลอะไรต่อแรงงาน หรือไม่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง รศ.ดร.กิริยา มองว่าการปรับค่าแรงควรจะคิดสูตรคำนวณใหม่ ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศ และให้เหมาะสมกับแรงงานตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ที่สำคัญควรมองสภาพคล่องของนายจ้างด้วย
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม รวมถึงไทยมีนโยบายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจึงมีผลทำให้ค่าแรงปรับขึ้นช้า การที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น อยากให้มองถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนในประเทศ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เขามีความต้องการ มีความชอบ และสนใจงานที่อยากทำ เป็นงานที่ใช้ความรู้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่พวกเขาได้ ดังนั้นเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึง และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน การอุดหนุนงบประมาณให้แรงงานได้เรียนฟรี อบรมเพิ่มทักษะฟรี เพิ่มโอกาสและการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน จะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาแรงงานที่มีทักษะต่ำให้สามารถเพิ่มทักษะ เพื่อให้มีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าก่อนที่จะมีการประชุมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะมีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝั่งวิชาการ เอกชน ผู้ประกอบการก่อน เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการหารือกันในไตรภาคี ตัวเลข 400 บาทต่อวัน ยังไม่ได้เป็นมติของไตรภาคี ยังเป็นกรอบที่กำหนดไว้เพื่อการพิจารณา
ส่วนความกังวลว่าถ้าขึ้นค่าจ้างแล้วจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยนั้น ปลัดกระทรวงแรงงานบอกว่าเมื่อการประชุมในวันที่ 13 และ 14 พฤษภาคมเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เข้ามาประชุม เพื่อวางมาตรการรับมือต่อไป
สำหรับข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยต่อวันชองแต่ละประเทศในอาเซียน อัปเดต ณ สิ้นปี 2566 มีดังนี้
1. มาเลเซีย ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 436 บาทต่อวัน
2. อินโดนีเซีย ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 428 บาทต่อวัน (กรุงจาการ์ตา)
3. ไทย ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 330–370 บาทต่อวัน (รัฐบาลเตรียมทยอยปรับเป็น 400 บาทต่อวัน เริ่ม 1 ตุลาคม 2567)
4. ฟิลิปปินส์ ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 299.80 บาทต่อวัน
5. กัมพูชา ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 273 บาทต่อวัน (กรุงพนมเปญ อุตฯ เครื่องนุ่งห่ม)
6. เวียดนาม ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 265 บาทต่อวัน
7. สปป.ลาว ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 107.50 บาทต่อวัน
8. เมียนมา ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 76.50–100 บาทต่อวัน
9. สิงคโปร์ ไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานได้รับรายได้เฉลี่ย 46,051 บาทต่อเดือน (ณ ปี 2566)
10. บรูไน ไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานได้รับรายได้เฉลี่ย 28,431 บาทต่อเดือน (ณ ปี 66)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าค่าแรงจะได้ปรับขึ้นกันถ้วนหน้า หรือจะได้ขึ้นแค่บางธุรกิจ แต่ในท้ายที่สุดถ้าราคาข้าวของแพงขึ้น เพราะต้นทุนจริง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องควักเงินจ่ายซื้อแพงขึ้นไปด้วยกันอยู่ดีล่ะว่าไหม???