ช่วงหลายวันที่ผ่านมาราคาทองคำ ทั้งในประเทศและทองคำโลก ต่างเร่งเครื่องแรงทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทำเอาบรรดานักลงทุนทองคำในมือสั่น แต่ก็เชื่อว่าหลายคนในระดับมากประสบการณ์ ยังฮึ้บไว้ เพราะเชื่อว่ายังไงมีลุ้นขึ้นอีกแน่ หรือหลายคนก็ไปซื้อเพื่อเก็งกำไร รอจังหวะขึ้นต่อ ค่อยขายก็มี
เพราะอย่างที่เห็นข่าวคราวกันไป ร้านทองย่านเยาวราชช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาคึกคักเป็นพิเศษ น่าจะมากกว่าช่วงตรุษจีนด้วยซ้ำ เพราะหลายร้านแถวรอคิวเข้าร้านทองกันยาวเหยียด บางคนก็เอาทองไปขาย บางคนกระเป๋าหนัก เป็นนักเล่นทองก็ไปเพื่อซื้อพอนำมาเก็งกำไรได้
ล่าสุดเมื่อเช้าวันเสาร์ (9 มี.ค. 67) ราคาทองเปิดตลาดดีดขึ้นต่อ ทองคำแท่งราคารับซื้อคืน 36,400 บาท และขายออก 36,500 บาท ส่วนทองรูปพรรณ รับซื้อคืน 35,747.28 บาท และขายออก 37,000 บาท อ้างอิงตลาดทองคำสปอตที่ 2,178.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และอิงค่าเงินบาท 35.42 บาท/ดอลลาร์
ซึ่งสาเหตุหลักของการปรับตัวขึ้นของทองคำโลกก็มาจากเม็ดเงินจากบรรดากองทุนไหลเข้าสินทรัพย์ทอง รวมถึงการที่เฟดส่งสัญญาณที่จะลดดอกเบี้ย สงครามภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงทางด้านการเงินตลอดปี 2567
รายงานจากบลูมเบิร์ก พบว่าการเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ของราคาทองคํายังเน้นย้ำถึงความ Disconnect ที่เพิ่มขึ้นระหว่างราคาสปอต และการไหลออกจากกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ค้ำโดยทองคําแท่ง โดยสัดส่วนการถือครองหุ้นทองคํา SPDR ซึ่งเป็น ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ลดลง 0.3% ในวันจันทร์ ทําให้ยอดรวมแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562 ซึ่งการไหลออกเหล่านั้นส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วยความต้องการทองคำของเฟดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ราคาสูงขึ้นแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะพุ่งสูงขึ้นในปีที่แล้ว ความต้องการทางกายภาพจากทองคําแท่งยังดูดซับความต้องการทองคําของกองทุน ETF ที่น้อยลง รวมทั้งทองคําแท่งยังได้รับแรงหนุนในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนพยายามป้องกันความวุ่นวาย (เฮดจ์) ในตลาดหุ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ
ในช่วงเดือนแรกของปีนี้บทบาทของทองคําในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยสำคัญ และเด่นชัดมากขึ้นด้วยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น โดยการโจมตีการขนส่งในทะเลแดงแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความวิบัติทางเศรษฐกิจของจีน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปลายปี ยิ่งทำให้คาดว่าราคาทองคําจะสูงขึ้นในปีนี้ เพราะความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยยังคงมีแรงกระตุ้น
ในขณะที่ทองคำในไทยพุ่งทะยาน มาจากหลายปัจจัยเช่นกัน โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าสิ่งที่มีผลต่อราคาทองคำมีด้วยกัน 5 ปัจจัย ได้แก่
1. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะทองคำมีความสัมพันธ์กับสกุลเงินดอลลาร์มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงการเทรดทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) ก็ใช้ดอลลาร์สหรัฐในการอ้างอิงราคาทองคำต่อออนซ์ การเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลดอลลาร์จึงส่งผลต่อราคาทองคำมากกว่าเงินสกุลอื่น หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญของโลก เช่น ยูโร, หยวน, ปอนด์ นักลงทุนจะหันมาเก็งกำไรในทองคำ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันหากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทองคำก็จะถูกลดความน่าสนใจลง ราคาก็จะลดต่ำลง
2. อัตราเงินเฟ้อ เป็นที่ทราบกันว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ ราคาทองคำจึงมักไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เงินลงทุนจะไหลเข้าซื้อทองคำเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลดลงของมูลค่าเงินจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เมื่อทองคำเป็นที่ต้องการมากขึ้น ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น
3. นโยบายการเงินและดอกเบี้ย ปัจจัยนี้จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาทองคำ โดยเฉพาะนโยบายที่มาจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนในทองคำต้องติดตาม หากนโยบายที่ประกาศเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงพอที่จะต่อกรกับเงินเฟ้อได้ ก็จะกดราคาทองคำลง แต่ถ้านโยบายและอัตราดอกเบี้ยไม่หวือหวาพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาทองคำก็จะยังไปต่อได้
4. ราคาน้ำมัน จะมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับทองคำโลก เพราะน้ำมันเป็นตัวผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อได้ในลักษณะของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อ ดังนั้นถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาทองก็คำก็มักจะสูงตาม แต่ก็มีหลายครั้งที่ราคาน้ำมันและทองคำเดินสวนทางกัน ซึ่งมักเป็นเป็นผลมาจากอุปสงค์และอุปทาน ของตัวน้ำมันและทองคำเอง
และ 5. วิกฤตการณ์ต่างๆ ยิ่งถ้ามีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น เช่น โรคระบาด ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก หรือภาวะสงคราม เช่นอย่างกรณี สงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อครั้งอดีต ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะถึงอย่างไรนักลงทุนยังคงมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่สร้างความมั่นใจแก่ผู้ถือครองมากกว่าการถือทรัพย์สินอื่นๆ หรือเงินสกุลที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนั้น
แต่ปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดเป็นเพียงตัวชี้วัดคร่าวๆ เท่านั้น ทองคำยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหลายๆ อย่าง
ด้านนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าขายทองคำมานาน บอกว่าราคาทองที่ปรับราคาขึ้นสูงระยะสั้นนี้ คาดว่ามาจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีการประชุมใน วันที่ 20 มี.ค.นี้ บวกกับค่าเงินบาทที่ผันผวน ทำให้ราคาทองขึ้น–ลงเร็วในช่วงสั้น แต่ก็คิดว่าช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 67 นี้ อาจจะมีโอกาสได้เห็นราคาทองในประเทศที่บาทละ 38,000 บาท
ด้าน นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก บอกว่า ราคาทองที่พุ่งต่อเนื่องทุบสถิตราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจนำทองคำที่ซื้อเก็บไว้ออกมาขาย ขณะที่บางคนก็มาซื้อเพิ่ม เพราะยังเห็นโอกาสที่ราคาทองจะขึ้นไปอีก ส่วนทิศทางราคาทองคำไทย มองว่าในระยะสั้นยังมีโอกาสปรับขึ้นอีก จากราคาทองคำตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 40–60 ดอนลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำในประเทศปีนี้มีโอกาสได้เห็น All Time High ที่ 38,000–40,000 บาทต่อบาททองคำเลยก็เป็นได้
ใครจะไปคิดว่าเรามาอยู่ในยุคที่ทองแพงพุ่ง และแพงขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีทีท่าว่าจะถูกลงไปกว่านี้สักเท่าไรแล้ว ในมุมของนักเก็งกำไรอาจเป็นเวลาทองจังหวะทองขึ้นพรวดพราดขนาดนี้ แต่ถ้าในทางกลับกันในฐานะของคนที่หารายได้อยากจะซื้อทองเก็บเป็นทรัพย์สมบัติ ไว้พึ่งพายามจำเป็นแล้วสัก บาทสองบาท ตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องยากไปแล้วสำหรับคนในยุคนี้…