รื้อสต็อกข้าวจำนำ 10 ปี ก่อนเปิดประมูลขายให้เกลี้ยง ปิดตำนานข้าวเน่าทุจริตโครงการรัฐครั้งประวัติศาสตร์

847
0
Share:

รื้อ สต็อกข้าวจำนำ 10 ปี ก่อนเปิดประมูลขายให้เกลี้ยง ปิดตำนานข้าวเน่าทุจริตโครงการรัฐครั้งประวัติศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาประกาศว่าจะนำข้าวในสต็อกรัฐบาลที่เก็บไว้นาน 10 ปี ออกมาเปิดประมูลขาย จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพข้าวในโกดังเก่าเก็บ ทั้งข้าวเน่า ข้าวรา จะเอาหุงกินได้จริงเหรอ?

ซึ่งที่มาที่ไปของสต็อกข้าวเก่าเก็บอายุอานามกว่า 10 ปีนี้ มีที่มาจากโครงการรับจำนำข้าว ที่นับเป็นโครงการทุจริตครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ที่ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น โดยชูคอนเซ็ปต์รับ “จำนำข้าวทุกเม็ด” ให้ชาวนาสามารถนำผลผลิตมาแลกเป็นเงินได้ ไม่จำกัดโควตา แถมยังกำหนดราคาไว้ราคาตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นมาก

อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำข้าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจากทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าข้าว นักวิเคราะห์ นักการเมืองฝ่านค้าน รวมถึงสื่อมวลชนว่าจะส่งผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารประเทศ และอาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเป็นผู้นำการค้าข้าวอันดับหนึ่งของไทยในตลาดโลก

ซึ่งแน่นอนว่าการกำหนดราคารับซื้อข้าวในราคาที่สูงยั่วใจ ทำให้เกษตรกรเร่งนำผลผลิตมาจำนำเป็นจำนวนมาก สต็อกมากขึ้น แต่ในสถานการณ์ตลาดและราคาข้าวในตลาดโลกขณะนั้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวในตลาดได้ในปริมาณเป้าหมาย จึงทำให้มีข้าวคงค้างในสต็อกถึง 18 ล้านตัน โดยนับถึงวันสิ้นโครงการปี 2557

โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2556–2557 โครงการจำนำข้าวกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีทางการเมือง และต่อมารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ก็ได้ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจไปในที่สุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนนำมาซึ่งมหากาพย์คดีจำนำข้าว

ซึ่งในปี 2565 องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ยังพบว่ามีข้าวคงค้างอีก 220,000 ตัน และคาดว่าจะระบายหมดในเดือนกันยายน 2565 องค์การคลังสินค้าได้ส่งฟ้องร้องดำเนินคดีรวม 1,143 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับผู้ประกอบการโรงสี และเจ้าของโกดังที่ อคส. เช่าฝากเก็บข้าวสาร ทำให้ข้าวเสื่อมสภาพไปจากเดิม หรือข้าวสูญหายไปจากสต๊อก อคส. คาดว่ารัฐจะขาดดุลงบประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น อ้างในปี 2565 ว่านโยบายรับจำนำข้าวทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณ 9.5 แสนล้านบาท และรัฐบาลของตนชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท

และยิ่งทำให้โครงการจำนำข้าวถูกตรวจสอบอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ถึงกรณีการทุจริตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่รัฐ จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีอาญา คดีแพ่งและคดีทางปกครอง ซึ่งมีนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจเกี่ยวข้องจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งก็รวมถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา และคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีพาณิชย์ในขณะนั้น ศาลพิพากษาให้จำคุก 48 ปี ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินคดีความก็นับเป็นมหากาพย์คดีทุจริตครั้งประวัติศาสตร์ของบ้านเรา รวมไปถึงเหตุการณ์วันแถลงข่าวของคุณบุญทรงที่ไม่สามารถตอบคำถามของนักข่าวได้ชัดเจน ถึงข้อมูลสต็อกข้าว การขายข้าวแบบจีทูจีตามที่วางแผนไว้ และอีกหลายคำถามที่สื่อยิงไม่ยั้ง จนกลายเป็นคลิปวิดีโอไวรัลจนถึงทุกวันนี้เลยก็ว่าได้

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ และ อคส. ได้มีการออกมาป่าวประกาศว่าจะทำการเปิดประมูลข้าวในสต็อกรัฐที่มาจากโครงการรับจำนำ จึงหนีไม่พ้นคำครหา ทั้งเนื่องด้วยรัฐบาลปัจจุบันที่แม้จะเป็นรัฐบาลผสม แต่ก็ยังเป็นการนำของพรรคเพื่อไทย ต้นกำเนิดคดีประวัติศาสตร์ ทั้งการวิจารณ์และข้อกังวลเรื่องของคุณภาพข้าวเก่าเก็บ จะเหมาะจะควรแก่การหุงหารับประทาน บริโภคได้จริงหรือ

คุณสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้มีความเห็นในเรื่องนี้ ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่องการจะนำข้าวที่ค้างในโกดัง เตรียมออกมาประมูลขายเป็นข้าวดีกินได้ ว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายและต้องเร่งตรวจสอบหลายกรณี โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตเรื่องของข้าวเก่าค้างจำนำในโกดังนาน 10 ปี รมยาฆ่าแมลง (Fumigation) ทุก 1–2 เดือน ตลอด 10 ปี ไม่น้อยกว่า 60–120 ครั้ง น่าจะมีแต่สารพิษตกค้าง ล้างไม่ออก และน่าจะไม่มีสารอาหารหลงเหลือ รวมถึงน่าจะมีอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) สารพิษและสารก่อมะเร็งที่เกิดจากรา ที่เกิดจากการเก็บข้าวที่ไม่เหมาะสม หรือกรณียุติการประมูลขายเป็นอาหารคนและสัตว์ เพราะเสี่ยงสารสะสมในข้าวก่อมะเร็ง และอย่าส่งออกไปขายแอฟริกา เพราะจะเป็นทำลายภาพลักษณ์และมาตรฐานการค้าข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่งจะยิ่งสร้างเสียหายตามมามากมาย
(โพสต์เต็มของ อ.สมชาย สามารถคลิกดูได้จากลิงก์นี้ https://shorturl.asia/VxAzK )

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ก็ต่างออกมาเทคแอคชั่น การันตีข้าวเก่า 10 ปี โดยการ “กินโชว์” ให้เห็นกันไปแล้ว หรือการพากันไปเปิดโกดังข้าวในสต็อกที่เตรียมจะเปิดขายของกรมการค้าภายใน คุณวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้พาณะสื่อมวลชนไปลงพื้นที่ร่วมกับคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้ประกอบการโรงสีข้าว ผู้ส่งออกข้าวถุง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ลงไปตรวจสอบข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ที่ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจำนวนข้าวสารนี้อยู่ในบัญชีของ อคส. จำนวน 2 โกดัง รวมจำนวน 145,590 กระสอบ น้ำหนัก 15,012 ตัน โดยให้บริษัท โคเทคนา อินสเปคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทเซเวเยอร์ เป็นผู้ตรวจสอบกลางตามมาตรฐานสากล ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศเป็นคนกลางดำเนินการตรวจสอบในทุกขั้นตอนตามมาตรฐานสากล มีการเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อนำไปตรวจสอบ โดยมีผู้สังเกตการณ์ร่วมด้วย

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่าได้มีการผ่ากองเก็บตัวอย่างจากกระสอบที่อยู่ภายในกองตามมาตรฐานการตรวจสอบ พบว่าในทางกายภาพเมล็ดยังคงมีความสมบูรณ์ไม่มีลักษณะเสียหายจากการถูกทำลายด้วยแมลง มีฝุ่น และมีสีเหลืองงาตามสภาพระยะเวลาที่เก็บรักษา และภายหลังจากที่ผู้ประกอบการทั้งโรงสีและผู้ส่งออกที่ร่วมการตรวจสอบทดลองทานแล้ว พบว่า ข้าวไม่แข็งกระด้าง ยังคงมีความนุ่ม มีลักษณะเช่นเดียวกับข้าวเก่า ซึ่งมีหลายประเทศที่มีความต้องการข้าวที่มีลักษณะนี้ และโดยปกติข้าวสารที่เก็บในคลังก่อนที่จะนำไปใช้เพื่อการบริโภคหรือส่งออกก็จะต้องนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานทางด้านการค้าและสุขอนามัยตามที่กำหนดก่อน ไม่ได้นำข้าวจากคลังที่เก็บไว้ไปจำหน่ายทันที ต้องนำไปปรับปรุงคุณภาพ จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าว และเงื่อนไขข้อตกลงหรือมาตรฐานของผู้ซื้อ เช่น ขัดสีของเมล็ด ขจัดสิ่งเจือปน และอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ผ่านมาตรฐานก่อนจำหน่าย เพราะไม่มีบริษัทใดจะยอมเสียชื่อ และเช่นเดียวกับข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลล็อตสุดท้ายนี้ก็จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน

ซึ่งในล็อตนี้เป็นล็อตสุดท้าย อคส. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดประมูล ขอให้รอผลการประมูลว่าเป็นอย่างไร ราคาประมูลจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของข้าวว่าดีหรือไม่ เพราะคงไม่มีโรงสี ผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการใดๆ ยอมที่จะเสนอราคาสูงกว่าคุณภาพข้าวที่ตนประมูลซื้อ แต่ได้เปิดให้เอกชน ผู้ประกอบการเข้าประมูลซื้อได้อย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้สามารถเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบคุณภาพข้าวได้ทั้ง 2 คลัง ก่อนตัดสินใจเสนอราคาซื้อ โดยการประมูลครั้งนี้ก็จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องมีภาระเก็บสต็อกอีกทั้งมีรายได้ส่งคืนรัฐและส่วนหนึ่งก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ

ด้านท่านภูมิธรรมบอกว่าการเข้าไปตรวจกองข้าว เพื่อไม่ให้มีการจิตนาการไปว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่อยากให้เอาจิตนาการมาชี้นำความจริง เรื่องนี้พยายามทำให้เรื่องราวต่างๆ ของประเทศจบลงด้วยดี สามารถนำเงินกลับเข้าประเทศได้ อย่างน้อยถ้าประมูลได้ราคามาตรฐาน 17–18 บาท จะมีรายได้เข้ามาถึง 200–400 ล้านบาท ดีกว่าปล่อยให้เน่าเสีย โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ 2 ราย คือนครหลวง และธนสรร รวมถึงผู้ส่งออกข้าวหลายรายในจังหวัดสุรินทร์ ได้มาร่วมตรวจสอบด้วย มองว่าหากนำข้าวไปปรับปรุงอีกหน่อย จะสามารถขายให้ตลาดข้าวเก่าในทวีปแอฟริกาได้

“คงยุติข้อกล่าวหาตอนแรกไปแล้ว เพราะดูแล้วเม็ดข้าวก็สวยงาม สีของข้าวมีปัญหาจริง ฝุ่นมีปัญหาจริงก็ต้องไปซาวข้าว เอาจริงก็ไม่เกิน 15 ครั้ง เป็นเรื่องปกติของการหุงข้าวมากิน อย่าไปทำให้มันเกิดความน่ากลัว ใครสงสัย ก็บอกแล้วให้ไปดูด้วยกัน” นั่นคือการการันตีจากท่านรองนายกฯและรัฐมนตรีพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม คุณสมชาย ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบขบวนการทุจริตจากการประมูลข้าวทั้ง 2 โกดัง ที่ย้อนไปจากการประมูลข้าวไปแล้วอย่างน้อย 2-3 ครั้ง (ปี 2557, ปี 2558, ปี 2563) นั้น ใครเป็นผู้ประมูล เป็นเจ้าของโกดังที่รับฝากข้าวเองใช่หรือไม่ เหตุใดไม่รับมอบข้าวหรือมีการหมุนเวียนข้าวในโกดัง เรื่องนี้ตรวจพิสูจน์ DNA และตรวจอายุข้าวได้ อีกประเด็นคือ ทำไมองค์การคลังสินค้า (อคส.) จึงยังจ่ายค่าเช่ามาตลอด 10 ปี และไม่นำออกประมูลให้เสร็จสิ้นมาโดยตลอด มีการทุจริตกันหรือไม่อย่างไร ใครรู้เห็นร่วมขบวนการบ้าง เป็นต้น

นอกจากท่าน สว.สมชาย ก็ยังมีนักวิชาการ นักการเมืองอีกหลายท่านที่ช่วยกันตั้งข้อสังเกต และทักท้วงไปยังรัฐบาล ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่ามหากาพย์ข้าวจำนำจะไปสิ้นสุดได้เมื่อไร หากต้องนับถอยหลังปิดตำนานมหากาพย์โครงการทุจริตจำนำข้าว คงต้องเอาใจช่วยรัฐบาลให้ขายข้าวล็อตสุดท้ายนี้ได้ เพราะอย่างน้อยอาจจะพอชดเชยงบฯ ที่รัฐต้องเสียไปได้สักเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี…

หรือทุกคนคิดเห็นว่าอย่างไร…?

BTimes