ค่าเงินบาทแข็งโป๊กขนาดนี้ มีผลดี–ผลเสียอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย? ทำไมต้องจี้แบงก์ชาติดูแล

ค่าเงินบาท แข็งโป๊กขนาดนี้ มีผลดี–ผลเสียอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย? ทำไมต้องจี้แบงก์ชาติดูแล

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทบ้านเราแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง และถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากว่า 4% แล้ว นับว่าแข็งค่าและผันผวนเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1 ปี (52–Week Range) อยู่ที่ 32.56–37.25 บาทต่อดอลลาร์

ทำไมเงินบาทถึงแข็งค่าเร็วขนาดนั้น?
สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วนั้น คุณพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน แบงก์ชาติ ให้ข้อมูลไว้ว่าตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 3.8% แข็งค่าเร็วในกลุ่มนำของสกุลเงินในภูมิภาคในไตรมาส 3 ซึ่งสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด (19 กันยายน 2567 ปรับลดลง 0.50%) รวมทั้งการที่จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดเม็ดเงิน 8 แสนล้านหยวน กว่า 3.7 ล้านล้านบาท ที่ส่งผลบวกต่อทิศทางสกุลเงินภูมิภาค

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงกดดันด้านการแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ด้วย อีกทั้งการที่ค่าเงินบาทอิงกับเงินดอลลาร์เป็นหลักก็นับว่ามีส่วน จะสังเกตได้ไม่ยากถ้าวันไหนเงินบาทแข็งก็แสดงว่าดอลลาร์อ่อน ดอลลาร์ยิ่งอ่อนบาทก็ยิ่งแข็งค่าขึ้น

ซึ่งเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 กันยายน 2567) ค่าเงินบาทก็ยังแข็งปั้ก หลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ต่อเนื่อง โดยปิดตลาดที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดตลาดวันพฤหัส (26 กันยายน 2567) ที่ 32.56 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก

ผลกระทบด้านลบเมื่อบาทแข็ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเงินบาทที่แข็งค่าเฉลี่ยทุกๆ 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ Nominal GDP แต่ทว่าในการดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะต้องคำนึงถึงผลในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ผลดีจากบาทที่แข็งต่อการนำเข้า ตลอดจนผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่อาจจะหายไปจากบาทแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ผลกระทบชัดเจนก็คือผลที่มีต่อผู้ส่งออกที่พึ่งพิงวัตถุดิบจากในประเทศเป็นหลัก หรือมีสัดส่วน Import Content ต่ำ ได้แก่ ยางและพลาสติก รถยนต์ และการผลิตอาหาร

ขณะที่การท่องเที่ยวก็ถูกกระทบชิ่ง หากทุกๆ การแข็งค่าของบาท 1% จะมีค่าเสียโอกาสจากรายได้ที่ไทยจะได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1–1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยการประเมินดังกล่าวประเมินผลกระทบเพียงขาเดียวคือ นักท่องเที่ยวขาเข้าประเทศ คือก็จะทำให้นักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้น้อยลง เงินที่นำมาใช้จ่ายในประเทศไทยก็จะน้อยกว่าแผนที่เคยตั้งไว้ การใช้จ่ายต่อทริปก็อาจจะต้องเซฟคอสมากขึ้น การกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ร้านรวงต่างๆ ในไทยก็จะลดลงตามมาเป็นห่วงโซ่

โดยในปีนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 36 ล้านคน ขณะที่เม็ดเงินจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด 2 ล้านล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าทุกๆ 1 บาท ดันราคาข้าวส่งออกสูงขึ้นตันละ 15 ดอลลาร์
ด้านผู้ส่งออกอย่างคุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่าเงินบาทที่เคยเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวกลับมาแข็งค่าขึ้น 10%ช่วงต้นปี ตอนนี้ส่งผลกระทบมากทำให้การส่งออกลำบากขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามแข็งค่าเพียง 3% อินเดียอ่อนค่า 1% ซึ่งความต่างของค่าเงินทำให้การเสนอราคาข้าวไทยห่างคู่แข่ง ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าทำให้ไทยเสียเปรียบการตั้งราคา เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ซึ่งค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย ยกเว้นราคาในประเทศจะลดฮวบเหลือตันละ 5–6 บาท ซึ่งผู้ส่งออกไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรจะเดือดร้อน

รวมทั้งปัจจุบันไทยลดต้นทุนการผลิตไปมาก และสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักต่างจากสินค้าอื่น ดังนั้นวิธีการดีที่สุดต้องให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพเงินบาทให้ดีที่สุด อย่าให้อ่อนค่ามากจนเกินไปและรัฐบาลต้องเร่งลดดอกเบี้ยให้เร็วที่สุด

คุณกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าค่าเงินที่แข็งค่าทุก 1 บาท ทำให้ราคาข้าวที่รวมค่าขนส่งถึงปลายทาง (FOB) เพิ่มขึ้นถึงตันละ 15 ดอลลาร์ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าเร็วและรุนแรง โดยไม่รู้ทิศทางว่าจะแข็งกว่าอีกแค่ไหนหรือผันผวนเร็วอีกนานไหมทำให้ผู้ส่งออกปรับตัวได้ยาก

แล้วผลดี ถ้าบาทยังแข็งค่าต่อไปจะมีอะไรบ้าง?
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ภายใต้หลายประเทศที่เริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยมากขึ้นนั้น ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งผลที่เห็นส่งผ่านมาสู่ค่าเงินคือ การที่หลายประเทศลดดอกเบี้ย หรือจีน ที่วันนี้เรายังแข็งค่ากว่าหลายประเทศ ดังนั้นการขายสินค้าพวกนี้ก็จะขายของได้ถูกลง เทียบกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องเผชิญกับความสามารถการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นประเด็นที่ต้องจับตามากขึ้น

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องเป็นอันดับต้นของภูมิภาค สอดคล้องกับ การเคลื่อนไหวของดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และมีเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ทั้งมาเลเซีย และไทยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายในประเทศด้วย ทั้งจากการส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางไทย ทำให้ยังคงมีเงินไหลเข้ามาในตลาดบอนด์ไทยต่อเนื่อง อีกทั้งนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะทยอยออกมา ซึ่งก็เป็นส่วนหนุนให้ทั้งความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้ และไทยยังมีปัจจัยพิเศษจากทองคำ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเทรดทองคำอันดับต้นๆ ของโลกที่เป็นปัจจัยเร่งให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เมื่อราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อีกนัยสำคัญคือการแข็งค่าของเงินบาทยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยสามารถมีรัฐบาลบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ใต้เงาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นพ่อ ก็ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรของไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ขอแค่แบงก์ชาติดูแลบาทไม่ให้แข็งค่าเร็ว ลดดอกเบี้ยเป็นอีกปัจจัยช่วย
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย มองว่าแบงก์ชาติจะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งมากกว่านี้ โดยจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันได้ ค่าเงินบาทควรอยู่ระหว่าง 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ บวกลบไม่มากนัก แต่ความกังวลคือ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นรวดเร็วมาก ซึ่งหากเทียบจากต้นปี 2567 บาทแข็งขึ้นมาประมาณร้อยละ 3 กว่า แต่หากนับจากจุดที่อ่อนค่าบริเวณ 36.8 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ผู้ประกอบการไทยสามารถกำหนดราคาและแข่งขันกับนานาชาติได้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบร้อยละ 11 ใกล้ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่เงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 3 ทำให้สินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวไทย แข่งขันกับเวียดนาม ค่าเงินดอง แข็งค่าเพียงร้อยละ 3 ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย มีอุปสรรคง่ายมาก ซึ่งขณะนี้ข้าวไทยกลายเป็นเบอร์ 3 แล้ว จากที่เคยอยู่เบอร์ 1 มาตลอด

นอกจากนี้ อาจารย์ธนวรรธ์ยังเห็นว่าการลดดอกเบี้ยอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป และเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัว การลดอกเบี้ยอาจเป็นตัวช่วยให้การเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น เป็นตัวสอดประสานนโยบายของ ธปท. ในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยืนยันว่าเป็นการแก้ไขหนี้ครัวเรือนได้ดีที่สุด แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ถือเป็นจุดสุดท้าย ที่เชื่อว่าคงตัดสินอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ลุ้นการหารือระหว่างคลังและแบงก์ชาติ ออกการ์ดอะไร?
เราคงไม่ต้องพูดถึงฝ่ายรัฐบาลหรือเอกชนส่วนใหญ่ แน่นอนว่าเชียร์ และกดดันให้แบงก์ชาติออกมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน หรือลดดอกเบี้ย โดยล่าสุดแบงก์ชาติก็ออกมาเคลื่อนไหวว่าปัจจุบันได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

แต่ช่วงก่อนหน้านี้แบงก์ชาติก็ดูเหมือนจะมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะๆ ในวันที่ค่าเงินบาทแข็งเร็วและแรงเกินไป แต่อาจจะไม่ได้แทรกแซงถึงขนาดหยุดการแข็งค่าของเงินบาทโดยตรงทันทีทันใดก็ตาม ประมาณว่าคอยดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ

ในสัปดาห์หน้า คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าได้นัดหมายกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพื่อหารือกันใน 2 เรื่องสำคัญคือ นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ลุ้นว่าจะลดลงจาก 2.50% หรือไม่ และสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร เพราะแน่นอนว่าปัจจัยภายนอกคุมไม่ได้ ก็คงต้องมาช่วยกันคิดหาทางแก้กันภายใน แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงที่ผ่านมาแบงก์ชาติเองก็ยังแสดงจุดยืนแน่วแน่มาตลอดว่า ‘ยังไม่รีบลดดอกเบี้ยนโยบาย’

เอาเป็นว่าคงได้แต่ลุ้นได้แต่รอว่าเมื่อถึงจุดที่เศรษฐกิจไทยเข้าช่วงลูกผีลูกคนอีกรอบ แบงก์ชาติจะยังคงนิ่งเฉยต่อไป หรือจะเลือกชั่งน้ำหนักใหม่ และหงายการ์ดใบสุดท้ายออกมาให้ได้เห็นกัน…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles