เศรษฐกิจไทยเดินทางมาแล้ว 1 ยก กับไตรมาสแรก หลายหน่วยงานโดยเฉพาะบรรดานักวิชาการ กูรู เอกชน ต่างออกมาประมวลภาพรวมให้เห็นบ้างแล้ว โดยส่วนใหญ่มองว่ายังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังไม่เต็มที่ เพราะยังมีความกังวลอีกหลายปัจจัยที่เข้ามาฉุดรั้งไว้
สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ ม.หอการค้าไทย ล่าสุดเดือนเมษายน 2567 หดตัวลงที่ระดับ 63.0 เป็น 62.1 ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 สาเหตุก็มาจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น หลังรัฐบาลปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้น รวมถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ความกังวลปัญหาการเมืองจากการปรับคณะรัฐมนตรี และปัจจัยสุดท้ายคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้า เพราะถึงแม้ว่าบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงสงกรานต์จะคึกคัก แต่ยังไม่ส่งแรงกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควรจะเป็น และยังมีเรื่องสงครามระหว่างรัสเซีย–ยูเครน กับอิสราเอล–ฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบ
อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดี ม.หอการค้าไทย บอกว่าในภาคธุรกิจมองว่านับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยฟื้นที่ฐานเดิมหลังจากสถานการณ์โควิด–19 แต่ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาไม่มาก เพราะภาคเอกชนเจอภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟหรือดอกเบี้ย ทำให้ภาคเอกชนตอบสนองกับนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดูแลค่าไฟและดอกเบี้ย ทว่าสำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ
โดยส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรขึ้นค่าแรงตามศักยภาพตามแต่ละจังหวัด อาทิ แม้จังหวัดภูเก็ตได้รับอานิงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นกลับมา แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 370 บาทเป็น 400 บาท นั่นหมายความว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 30 บาท ขณะที่การขึ้นค่าแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท เท่ากับว่าต้องจ่ายเพิ่มถึง 70 บาท ดังนั้นการคำนวณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องวิเคราะห์จากเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ม.หอการค้าไทย ประเมินไว้ที่ 2.6% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจนนักทั้งในเรื่องของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสโตเลย ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้มากกว่า 3% ถ้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นได้จริง และการขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐภายหลังจากงบประมาณปี 67 สามารถเบิกจ่ายได้
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 เช่นกัน สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการที่รัฐประกาศเตรียมจะขึ้นค่าแรง 400 อัตราเดียวทั่วไทย ได้เพิ่มความกังวลภาคการผลิต โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แถมมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐก็มาสิ้นสุดลงแล้ว
หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เองก็ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ ยังได้ประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ พบว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวเพียง 0.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ในปี 2566 ที่หดตัวลงอยู่ที่ระดับ 1.7% ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วถือว่าลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก แม้ต่างชาติจะแห่มาเล่นน้ำสงกรานต์บ้านเราคึกคัก แต่ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ รวมถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มจีดีพีของไทยในไตรมาส 1/2567 ว่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 1% จากแรงกดดันทั้งเรื่องการส่งออกที่ยังติดลบ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกไทยไตรมาส 1 หดตัว 0.2% การบริโภคภาคเอกชนก็เริ่มชะลอตัว หลังจากสิ้นสุดมาตรการ Easy e-receipt รวมถึงยอดขายรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะที่ลดลง และสุดท้ายคืองบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
ส่วนไตรมาส 2 มีโอกาสจะขยายตัวได้ราว 2–2.5% ซึ่งจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากผลของการที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่เชื่อว่าสถานการณ์ส่งออกจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ คาดว่าทั้งปีการส่งออกไทยจะขยายตัวราว 2% โดยเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้เริ่มมีการใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้นั้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงต้องขอดูเงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ ก่อน แต่เบื้องต้นคาดว่าน่าจะไปมีผลกับเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มากกว่า
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ว่าจะเติบโตที่ 0.9% โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่ยังติดลบ และงบประมาณภาครัฐที่ยังไม่เข้ามาเมื่อเทียบกับปีก่อนที่รัฐมีการใช้จ่ายปกติ ขณะเดียวกันหากเทียบกับไตรมาสก่อหน้า (QoQ) คาดการณ์ว่าจีดีพีจะโต 0.7% ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนจะมาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภค หรือการลงทุน ยังชะลอตัว โดย KTB ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีปี 67 ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.7% มาเหลือที่ 2.3%
ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ดูจะยังโดนแช่แข็ง เพราะที่ผ่านมาบรรดาผู้ประกอบการอสังหาฯ ธุรกิจรับสร้างบ้านต่างก็ออกมาให้ข้อมูลเรื่อยๆ ว่ายอดค้างสต็อกเหลืออีกเพียบ ธุรกิจชะลอตัว ปัจจัยสำคัญก็มาจากการปัญหาหนี้ที่ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของคุณสุรพล โอภาเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดเผยว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน โดยในกลุ่ม Gen Y มีสัญญาณหนี้เสียเกินครึ่ง แถมสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุด้วยว่าในไตรมาสแรกปีนี้ จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านและคอนโดในไทยยังตกต่ำ มากที่สุดในรอบ 6 ปี มูลค่าโอนเลวร้ายสุดในรอบเกือบ 5 ปี ยอดปล่อยกู้ซื้อบ้านตกต่ำกว่า 20% ในกลุ่มบ้านไม่เกิน 7 ล้าน ซึ่งได้ฉุดยอดโอนแย่ที่สุดติดลบ 20%
จะเห็นได้ว่าแต่ละธุรกิจพากันโอดครวญ เศรษฐกิจที่จะฟื้นจากเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ก็ดูจะเป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่ากำลังไม่แรงพอที่จะขับเคลื่อนสถานการณ์ได้ตอนนี้ เพราะยังต้องแบกปัญหาหนี้ครัวเรือนที่หนักสุดอยู่ เพราะแค่มีหนี้ ยิ่งหนี้เสียคนก็ต้องระวังการใช้จ่าย กำลังซื้อพาลชะลอลงไปด้วย ผลกระทบก็จะตกไปเป็นทอดๆ ไหนจะส่งออกที่ยังหดตัว การลงทุน ยังชะลอตัว สารพัดปัจจัยที่สกัดดาวรุ่งเศรษฐกิจไทย ซึ่งหวยจะไปออกที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ที่จะแถลงสรุปตัวเลขภาพรวมเศรษฐไทยไตรมาส 1 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ว่าที่เรารู้สึกกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร… ก็รอติดตามกัน …