ช่วงก่อนหน้านี้ที่ในบ้านกำลังจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือช่วงที่ค่าไฟพุ่งขึ้นกระฉูด ทำเอาหลายๆ ฝ่ายต่างก็เป็นกังวลว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดทอนความเชื่อมั่น โดยเฉพาะตวามน่าลงทุนของบรรดาทุนต่างชาติที่หลังจากฟื้นไข้จากโควิด หลายๆ ประเทศที่การผลิตหยุดชะงัก หรือชะลอลงทุนไป ก็เริ่มมองหาทำเลในการตั้งฐานการผลิตอีกครั้ง
ซึ่งบรรดาเอกชน นักวิชาการ ต่างก็เชียร์ให้ไทยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน ดึงดูดเอาใจต่างชาติให้มากๆ เพราะหวังจะเป็นการฉุดกระชากเศรษฐกิจไทยให้ตื่นจากหลุม
ล่าสุด สถาบันมิลเคนของสหรัฐ (Milken Institute) ได้เปิดเผยดัชนีโอกาสด้านการลงทุนระดับโลก (Global Opportunity Index) หรือ GOI พบว่าประเทศไทยสามารถขึ้นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา (E&D) ในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองให้กับมาเลเซีย แต่แซงหน้าเวียดนามที่อยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่น่าลงทุนในภูมิภาค
ซึ่งดัชนี GOI ถือเป็นดัชนีอ้างอิงที่ให้ข้อมูลสำคัญแก่นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก และบ่งชี้มุมมองเกี่ยวกับความน่าดึงดูดและกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศ โดยในการจัดทำดัชนี GOI สถาบันมิลเคนประเมินโอกาสด้านการลงทุนผ่านทางปัจจัยชี้วัด 100 รายการ แบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่
– การรับรู้ทางธุรกิจ
– ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
– บริการทางการเงิน
– กรอบโครงสร้างเชิงสถาบัน
– มาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศ
โดยภาพรวมการลงทุนปี 2566 ไทยมีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16% มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43%
หากดูเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่า 38% มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% โดยประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 83,954 ล้านบาท ส่วนญี่ปุ่น มีมูลค่า 79,151 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 แต่มีอัตราขยายตัวสูงถึง 60% จากปีก่อน
แน่นอนว่าสิ่งที่น่าจับตาก็คือการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่ดูจะคึกคักขึ้นในช่วงนี้ หลังจากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2565 โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาผ่านค่ายรถคันละไม่เกิน 150,000 บาท ทำให้ยอดขายรถอีวีโตแบบก้าวกระโดด
โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งใจยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพ และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของไทย และแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) แบบครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ อะไหล่ การประกอบ การบำรุงรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดการวางรากฐานให้ไทยมี EV ecosystem ที่สมบูรณ์ แข็งแกร่ง และยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่1/2567 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ที่เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต พร้อมทั้งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนศึกษาถึงแนวทางการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วแบบครบวงจร เพื่อนำไปกำหนดมาตรการที่เหมาะสม
ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยถือว่าเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์โลก มีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากภาคเอกชน แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและนักลงทุน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนโยบาย EV 3.5 ที่ต่อมาจากมาตรการ EV 3.0 ก็ถือว่ายังได้รับการตอบรับดี และยังมียอดจองและจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“บีโอไอมองว่าปี 2567 จะเป็นปีทองสำหรับการลงทุน ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน สำหรับยานยนต์ นอกจากจะดึงการลงทุนจากผู้ผลิตอีวีรายใหม่ รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญแล้ว ยังคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรถยนต์รายเดิมที่จะมาขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ออกมาใหม่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และการขับเคลื่อนอัจฉริยะด้วย” นายนฤตม์ กล่าว
ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่การลงทุนจากต่างชาติ ยังมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะลำพังการใช้จ่ายในประเทศ หรือรายได้จากการท่องเที่ยว คงยังไม่เพียงพอ และเชื่อว่าหลายคนก็คงหวังว่าการลงทุนที่ถูกต้องผ่านเงินทุน ต่อยอดไปยังการจ้างงาน กระจายรายได้ กระตุ้นกำลังซื้อให้กับประเทศ และท้ายที่สุดจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นไข้ ตามที่หวังกันสักที