กนง. ยอมหั่นดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลดีด้านไหน มีใครได้ประโยชน์บ้าง ?

กนง. ยอมหั่น ดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลดีด้านไหน มีใครได้ประโยชน์บ้าง ?

นับว่าเหนือความคาดหมายที่สรุปผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่ลงมติ 5–2 เสียง เห็นชอบให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เป็น 2.25% เพราะก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ ต่างก็มองว่า รอบนี้ กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม อีกทั้งที่ผ่านมาท่าทีของแบงก์ชาติก็ดูจะเสียงแข็ง และแสดงจุดยืนมาอย่างต่อเนื่องว่ายังไม่มีความเป็นที่จะลดดอกเบี้ยในตอนนี้

ซึ่ง กนง. อธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ก็เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ภาคครัวเรือน แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดหนี้ที่ดำเนินอยู่

ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงใกล้เคียงกับประมาณการ และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะค่อยๆ กลับสู่เป้าหมายได้ภายในสิ้นปี 2567 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าการปรับลดอัดราดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน โดยไม่ไปขัดขวางกระบวนการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง โดยมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการรอบก่อนที่ 2.6% จากแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกที่มีการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568

<เมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลอย่างไรต่อจากนี้>
ในด้านตลาดทุน บล.กสิกรไทย มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. จะส่งผลบวกต่อกลุ่มการเงิน กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มอสังหาฯ จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง แต่อีกด้านจะส่งผลลบต่อกลุ่มธนาคารจากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลง อีกทั้งอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

<คนกู้บ้านหายใจโล่งขึ้น ยอดผ่อนจะเบาลงบ้าง>
ในกลุ่มคนกู้สินเชื่อบ้าน ภาระผ่อนแต่ละปีหนักหนาสาหัสเอาการ โดยเฉพาะดอกเบี้ย MRR ที่เป็นนอัตราลอยตัว ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8.05% ต่อปี อัตราต่ำสุดจะอยู่ที่ 7.3% ต่อปี และอัตราสูงสุดที่ 10.15% ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ประกาศลอยตัวไปแล้ว ดังนั้นถ้า MRR ขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะขึ้นตาม ยอดในการผ่อนชำระแม้จะไม่เพิ่มขึ้น แต่ยอดหักเงินต้นจะลดลงและจะไปเพิ่มในส่วนของดอกเบี้ยแทน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากู้เงินมา 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยก็จะลดลง 0.25% ต่อปี คิดแบบคร่าวๆ จะได้ลดดอกเบี้ยลง 2,500 บาทต่อปี ตามแต่ละธนาคารจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยตาม กนง.หรือไม่

แต่จะต่างกับดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราต่ำพิเศษ ประมาณ 3 ปีแรกแล้ว ที่แม้ว่า MRR จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ทำไว้จะไม่เปลี่ยนแปลง

<ออมสินชิงลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นแบงก์แรก มีผล 1 พ.ย.นี้>
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ตุลาคม 2567) ธนาคารออมสิน โดยคุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทให้สอดคล้องกับการที่ กนง. ลดดอกเบี้ย ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี

ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่อัตรา 6.595% ต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ย

<เงินบาทอ่อนค่าทันที หลัง กนง. หั่นดอกเบี้ยครั้งแรกรอบ 4 ปี>
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ว่า ณ วันที่ กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า 0.3% ทันทีหลังผลการประชุม แตะระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ใกล้ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง

ซึ่งการที่เงินบาทขยับอ่อนค่าลง นั่นก็หมายความว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ออกมาเรียกร้องให้ กนง. ลดดอกเบี้ย และเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยเถิด เพราะผู้ส่งออกจะไม่ไหวแล้ว

<ตลาดหุ้นเด้งรับ อัพไซด์พุ่งขึ้น 45-50 จุด>
ตลาดหุ้นไทยในช่วงเช้า ของวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่มีการประชุม กนง. ดัชนี SET ค่อนข้างแกว่งทรงตัว แต่เปิดภาคบ่ายหลังจากกนง. เคาะดอกเบี้ยว่าลด ก็ปรากฎว่าดัชนี SET ดีดตัวพุ่งขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดของวัน (High) ที่บริเวณ 1,488.59 จุด หรือ +23.56 จุด

บล.กรุงศรี ได้ประเมินการลดดอกเบี้ยของ กนง. ทำให้ Equity Risk Premium ตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้นถึง 3.62% ใกล้ +1SD 4% จะทำให้ตลาดหุ้นเร่งขึ้นสู่ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2567 ที่ 1,540 จุด โดยประเมินทุกๆ ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% (25 bps) เป็นอัพไซด์ต่อ SET Index ราว 45-50 จุด

<แนวโน้ม กนง. จะลดดอกเบี้ยอีกหรือไม่? >
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอนาคต ซึ่ง สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ที่คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 1.0% (เทียบกับ 1.2% ใน 1/67) ตามด้วยแรงส่งที่แผ่วลงต่อเนื่องสู่ 0.6% ในปี 2568 ปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีรวมถึงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2568 ที่ 1.2% ยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งยังอาจเผชิญความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงิน (Financial conditions) จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะเฟดซึ่ง อยู่ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และ เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง. คาด มองไปข้างหน้าปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีมุมมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัวจะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

<ขุนคลังเชื่อมั่นลดดอกเบี้ยเป็นผลในทางบวก>
คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นถึงกรณีที่ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายว่าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยเป็นการลดภาระ แน่นอนว่าการที่คนจะเข้าไปกู้ใหม่เพราะดอกเบี้ยถูกลง 0.25% คงไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่ว่าคนมีหนี้เยอะก็จะได้แบ่งเบาด้วย รวมถึงมีผลต่อความเชื่อมั่น เพราะบรรดาเงินกู้ที่อยู่ในตลาด โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ก็น่าจะมีผลต่อผู้ที่ลงทุนรุ่นเก่า ฉะนั้ ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นผลในทางบวก

ส่วนความคาดหวังในการประชุมครั้งหน้าว่าจะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่า 0.25% หรือไม่นั้นก็ต้องดู เพราะเศรษฐกิจของเราผูกกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ซึ่งต้องปรับปรุงภายในอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องติดตามต่อเนื่องว่าสถานการณ์ในต่างประเทศจะมีแนวโน้มอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการของเราต้องคิดให้หนักว่าจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าหลังจากดอกเบี้ยลดลงมาสมดั่งใจปรารถนาแล้ว ผลลัพธ์ต่อจากนี้จะออกมาตามที่คาดหวังได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องรอให้เครื่องจักรแต่ละตัวนั้นได้ทำงาน แล้วค่อยมาวัดประสิทธิภาพกันอีกที…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles