ผู้ประกอบการโอดแบกต้นทุนหนักอึ้ง ดันสินค้าพาเหรดขึ้นราคา ต้องจับตาแค่ชั่วคราวหรือติดลมบน แพงตลอดไป?

167
0
Share:

ผู้ประกอบการโอดแบก ต้นทุน หนักอึ้ง ดันสินค้าพาเหรดขึ้น ราคาสินค้า ต้องจับตาแค่ชั่วคราวหรือติดลมบน แพงตลอดไป?
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้เห็นข่าวคราวการปรับขึ้นราคาสินค้าหลายอย่าง และมีที่ทำท่าว่าจะขึ้นอีกหลายอย่าง ถ้าสถานการณ์ราคาน้ำมันยังแพงติดเพดาน ผู้ประกอบการขนส่งก็ออกมาขู่ ว่าจะขึ้นค่าขนส่งไปอีก ทีนี้พวกสินค้าที่มีต้นทุนค่าขนส่ง (ซึ่งก็เกือบจะทั้งนั้นล่ะนะ) ก็จ่อคิวรอปรับราคาแล้ว ดีไม่ไดีบางอย่างก็ขึ้นไปรออยู่แล้ว ในขณะที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

<ราคาไข่ไก่แพงนำไปก่อน แพงสุดเป็นประวัติการณ์>
หากย้อนกลับไปปลายเดือนพฤษภาคม ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นไปแล้ว หลังจากที่ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มประกาศปรับขึ้นแผงละ 4 บาท ทำให้แม่ค้าไข่ไก่ตลาดชุมชนท่าเดื่อ ในจังหวัดเชียงใหม่ ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ว่าราคาไข่ไก่ปรับขึ้นมาประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยเบอร์ 0 ปรับขึ้นแผงละ 6 บาท เบอร์ 1 ปรับขึ้นแผงละ 5 บาท และเเบอร์ 2/3/4 ปรับขึ้นแผงละ 4 บาท ทำให้ราคาขายปรับขึ้นมาทันที และดันให้ไข่ไก่มีราคาแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ยกตัวอย่างราคาไข่ไก่เบอร์ 0 ปรับขึ้นเป็นแผงละ 145 บาท เบอร์ 1 ราคา 138 บาท และที่สำคัญราคาไข่ที่จำหน่ายเป็นฟองนั้นพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 4–6 บาทแล้ว เบอร์ 0 แพงสุดอยู่ที่ 6 บาท

<บ่นกันระงม ไก่แพงทั้งแผ่นดิน>
ที่เพิ่งจะปรับขึ้นแพงกันได้ไม่นานก็คือราคาไก่สด ที่พ่อค้าแม่ค้าพากันออกมากระพือข่าวว่าราคาไก่ที่มันขึ้นมา ทำลูกค้าหายไปเยอะ ซึ่งล่าสุดราคาไก่สดสำรวจเฉพาะในตลาดในย่านสะพานใหม่ กทม. พบว่า ราคาไก่สดและชิ้นส่วนไก่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5–10 บาท เช่น อกไก่ เดิม 80 บาท ขึ้นเป็น 85–90 บาท ที่หนักสุดคือปีกกลาง เดิม 130 บาท วันนี้ขึ้นมาเป็น 135 และ 140 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว

ขณะที่ในต่างจังหวัด อย่างเช่นที่ตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดอุทัยธานี ราคาไก่สดปรับราคาขึ้นเป็นรายวัน โดยแม่ค้าแผงไก่สด บอกว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาส่งไก่สดปรับขึ้นมารวมแล้วถึงกิโลกรัมละ 31 บาท จากเดิมราคาขายส่งอยู่ที่ 55 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 81 บาท และยังทยอยปรับขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท แบบรายวันอีกด้วย ส่งผลให้ราคาขายปลีกขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 95–100 บาทแล้ว ส่วนชิ้นส่วนไก่ ทั้งปีก น่อง ขาไก่ ก็ขยับขึ้นตาม ซึ่งก็ยังไม่ทราบสาเหตุพาลทำให้บรรยากาศค้าขาย เงียบเหงาลงมาก เพราะลูกค้าต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าแพง

ขณะเดียว ยังมีลูกเพจของ BTimes ได้แจ้งข่าวสารมายังแฟนเพจเฟซบุ๊กของเราอีกด้วยว่าราคาไก่แพงขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะในห้างแพงกว่าในตลาดมาก และบนโซเชียลมีเดียยังได้มีการแชร์ข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ไก่แพง! เช่น ราคาไก่สดปรับขึ้นมาก ราคาสินค้าหลายๆ อย่างเช่น ผัก ราคาลงหมดแล้ว เมื่อเข้าฤดูฝน แต่ไก่สดยังราคาค้างฟ้า ไม่มีทีท่าจะลง กระทบประชาชนมากๆ แพงทุกอย่าง สินค้าหลักอย่างเช่น ไข่ ไก่ ขึ้นสูงมาก, บางร้านในนครปฐม กาญจนบุรีบางร้านขึ้นถึง 93 บาทแล้ว สำหรับสันในไก่, 85 ค่ะ ไข่ไก่ก็ขึ้น ทำกับข้าวขายหนักใจสุดๆ, ขึ้นมา 2–3 สัปดาห์แล้วขึ้นทีหน้ามืด, ซื้อกิโลกรัมละร้อยตั้งนานละนะ ในห้างโลละ 100 กว่าบาท, แพงทั้งแผ่นดิน เป็นต้

<พาณิชย์นั่งไม่ติดเรียกผู้ประกอบการถกด่วน>
กระทรวงปากท้องอย่างกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในก็นั่งไม่ติด เพราะประชาชนเดือดร้อน แถมร้องเรียนกันอย่างหนัก จึงได้มีการเรียกบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ผู้ส่งออก ผู้ประการค้าปลีกระดับบิ๊กของประเทศ มาหารือถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น

โดยคุณกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าจาการประชุมหารือร่วมกับผู้ที่ พบว่าสาเหตุที่ฟาร์มไก่ให้เหตุผลก็มาจากช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา เป็นช่วงอากาศร้อนและแล้งจัด ทำให้ผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดลดลง จากเดิมเวลาเพาะเลี้ยงจะประมาณ 39–42 วัน อีกทั้งน้ำหนักไก่เป็นก็ลลงด้วย 5% ซึ่งกว่าจะได้ขนาด 2.4 กิโลกรัมตามขนาดมาตรฐานปกติ ต้องเลี้ยงเพิ่มอีก 3–5 วัน ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายต้นทุน ดังนั้นจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกัน

ส่วนที่มีการมองกันว่าการส่งออกไก่เนื้อของไทยที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ไก่ในประเทศขาดแคลนนั้น ไม่ได้มีผลเพราะปริมาณผลผลิตไก่มีเพียงพอ ไม่มีปัญหาขาดแคลน ทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก ขณะเดียวกันสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยผู้เลี้ยงไก่เนื้อได้เพิ่มจำนวนลูกไก่ และการเลี้ยงจนได้ผลผลิตใช้เวลา 39–42 วันเหมือนเดิม และเมื่อผลผลิตล็อตใหม่เข้าสู่ตลาด ราคาจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะเป็นปกติช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

สำหรับผลผลิตออกสู่ตลาดอยู่ที่วันละ 5.45 ล้านตัว คิดเป็นเนื้อไก่ ประมาณ 9,300 ตัน ปริมาณบริโภคในประเทศตกปีละ 2.2 ล้านตัน เฉลี่ยวันละ 6,000 ตัน ที่เหลือคือส่งออก

คุณกรนิจ ยังบอกด้วยว่าได้รับคำยืนยันทั้งจากผู้เลี้ยงจะเร่งเลี้ยงเพิ่ม และผู้ประกอบการได้มีการเปิดโรงเชือดใหม่เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนเรื่องราคา ทั้งผู้เลี้ยง ห้างค้าส่งค้าปลีก ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นราคาไปกว่านี้อีกแล้ว โดยราคาถือว่าสูงสุด ณ ตอนนี้แล้ว ก็จะตรึงราคานี้ ไม่มีการขึ้นอีก และยังจะช่วยจัดโปรโมชัน โดยเฉพาะชิ้นส่วนสะโพก และเนื้ออก เพื่อลดราคาให้กับผู้บริโภคด้วย และจากนี้เมื่อสถานการณ์ผลผลิตดีขึ้น ก็จะปรับลดลงตามความเหมาะสม ขอให้ผู้บริโภคเบาใจลงได้ และกรมจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งจากการตรวจสอบตอนนี้ ราคายังอยู่ในโครงสร้างที่กำหนด

<ยังมีสินค้ารอปรับขึ้นอีก>
จากการเปิดเผยของคุณสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง–ปลีกไทย บอกด้วยว่า ล่าสุด ผู้ผลิตผงชูรสยี่ห้อหนึ่ง แจ้งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ จะปรับราคาขายขึ้นอีกประมาณ 5% หรือประมาณ 3–5 บาทต่อถุง ซึ่งแต่ละขนาดจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน เช่นขนาด 1 กิโลกรัม ปรับขึ้น 5 บาท ส่วนขนาดเล็กราคาขาย 5–10 บาท ไม่ได้ปรับราคาขายขึ้น แต่ลดปริมาณลง

คุณสมชาย ยังระบุด้วยว่าปัจจุบันสถานการณ์กำลังซื้อยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากการที่คนไม่มีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้เพิ่ม แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้าราคาสูงขึ้น ทำให้คนประหยัดในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

<ผู้เลี้ยงหมูขอโวยบ้าง>
ย้อนกลับไปปัญหาหมูเถื่อนที่ระบาดหนัก ผู้เลี้ยงหมูไทยประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานานกว่า 1 ปี หลังเผชิญวิกฤตราคาหมูตกต่ำในปี 66 ต้นทางจากประเทศบราซิลและประเทศทางยุโรปที่มีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 40–50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าไทย 50% ทำให้ราคาหมูในบ้านเราถูกดัมพ์ราคา และจำยอมที่ต้องขายขาดทุน แม้ว่าตอนนี้ราคาจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็พบว่าบรรดาผู้เลี้ยงยังได้รับความเดือดร้อนจากขาดทุนสะสม แถมยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และปัจจัยการป้องกันโรค ล้วนทำให้ค่าใช้จ่ายในฟาร์มและต้นทุนการเลี้ยงหมูต่อตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น

จากการเปิดเผยของคุณสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่บอกว่าราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มยังไม่สามารถปรับขึ้นข้ามเส้นคุ้มทุนไป สวนทางกับการบริโภคของประชาชนที่ยังชะลอตัวตามเศรษฐกิจ

ราคาล่าสุด ณ 14 มิถุนายน 2567 ราคาสุกรหน้าฟาร์มปรับขึ้น กิโลกรัมละ 2 บาท จากวันพระก่อนหน้า (30 พฤษภาคม 2567) ภาคตะวันตก 72 เป็น 74 บาท/กิโลกรัม, ภาคตะวันออก 68–74 เป็น 70–76 บาท/กิโลกรัม, ภาคอีสาน 74–76 เป็น 76–78 บาท/กิโลกรัม, ภาคเหนือ 73–76 เป็น 75–78 บาท/กิโลกรัม, ภาคใต้ 74 เป็น 76 บาท/กิโลกรัม

ส่วนราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท สูงขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ราคากิโลกรัมละ 10.30 บาท เพิ่มขึ้นถึง 1.70 บาท นับเป็นต้นทุนสำคัญในการเลี้ยงหมู เนื่องจากสัดส่วนการใช้ข้าวโพดในการผสมอาหารสัตว์นั้นเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดราว 30–40% การที่ข้าวโพดขาดตลาดและมีราคาแพงจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลี้ยงสัตว์

ยังไม่นับรวมต้นทุนด้านอื่นๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สฯ น้ำมัน กระทบลากยาวเป็นลูกโซ่ถึงต้นทุนขนส่ง บริหารจัดการ ค่าจ้าง ค่าแรง ต่างๆ นานา เพราะมันเกี่ยวโยงกันแทบจะทั้งหมด มองแค่ไม่กี่อย่างก็เห็นว่ามีราคา(แพง)ที่ต้องจ่าย ถึงแม้ว่าจริงๆ อาจจะแพงขึ้นไม่กี่อย่าง(หรือเปล่า) แต่มันก็แพงขึ้นตอนควักจ่ายหรือเทียบปริมาณกับแต่ก่อน คนที่ต้องซื้อกินซื้อใช้รู้สึกและสัมผัสได้ ถึงอย่างนั้น ประชาชนตาดำๆ ขาวๆ อย่างเราๆ ต่างก็เฝ้ารอว่าจะมีมาตรการอะไรก็ได้สักอย่างที่มาช่วยรีบูตเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นจริงๆ จังๆ สักที ไม่ใช่แค่เสือกระดาษอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้…

BTimes