ผลกระทบเศรษฐกิจไทย จากน้ำท่วมปี 2567 จะซ้ำรอย สาหัสเท่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือไม่?

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัย ที่เริ่มต้นที่ภาคเหนือ ล่าสุดสถานการณ์ในหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย บางพื้นที่ถูกน้ำท่วมหนัก พืชผลการเกษตร เรือกสวนไร่นา ที่อยู่อาศัยเสียหายกันไปจำนวนมาก

<กังวลวิกฤตน้ำท่วม จะสาหัสเท่าปี 54>
จากสถานกาณณ์น้ำท่วมที่น่าเป็นห่วง ก็มีหลายกูรู วิเคราะห์ถึงความรุนแรงของวิกฤตอุทกภัยในขณะนี้ไปในหลายแง่มุม

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้เชี่ยวชาญสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ประเมินว่าภาคเหนือได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเทียบเท่ากับเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และบางพื้นที่เกิดความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น เชียงราย น่าน และสุโขทัย แต่ในขณะเดียวกันจะเห็นว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นยังมีปัจจัยซับซ้อนมากกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ฝนตกหนักกว่าปกติและใกล้เคียงปี 2554 แต่ที่แพร่ฝนตกไม่หนัก กลับเสียหายหนัก แสดงให้เห็นว่ากายภาพของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้น้ำท่วมแพร่หนักมาก แม้ว่าฝนตกไม่หนัก

แต่ รศ.ดร.เสรี ยังบอกด้วยว่าการที่บอกว่าท่วมไม่เหมือนปี 2554 เป็นการสื่อความหมายที่ผิด ถามว่าปริมาณน้ำเมื่อปี 2564–2565 เท่ากับปี 2554 ไหม มันไม่เท่ากันแน่นอน แต่ระดับน้ำสูงกว่าปี 2554 แน่ๆ เพราะว่าเกิดการบีบอัดลำน้ำจากการสร้างคันป้องกันตนเองของหลายหน่วยงาน

<ปีนี้กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมไหม?>
คำถามที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ “น้ำท่วมหนักในภาคเหนือ แล้วปีนี้ กรุงเทพฯจะน้ำท่วมหนักด้วยไหม?” ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ผมประเมินคร่าวๆ จากเว็บไซต์บริหารจัดการน้ำ อย่างคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ และศูนย์บริหารจัดการน้ำ กฟผ. (ดูลิงก์ด้านล่าง) ก็พบว่าทั้งตามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ยังมีปริมาณรองรับน้ำได้อีกมากนะครับ ส่วนใหญ่จะเห็นว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในเกณฑ์ปานกลาง… ยังไม่น่าจะมีปัญหาวิกฤตเหมือนในสมัยก่อน

ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในบางภูมิภาคนั้น ยังเป็นแค่พายุฝนที่เกิดขึ้นในฤดูมรสุมในแต่ละปีเท่านั้นเอง ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา (ซึ่งทำนายกันว่าจะเกิดในปีนี้ แต่ก็เลื่อนมาหลายเดือนแล้ว)

เลยไปลองหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ และก็เอาบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ภาณุ ตรัยเวช อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา มาสรุปให้อ่านกันครับ… โดยสรุปอาจารย์ให้ความเห็นว่า “ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ อาจไม่หนักเท่าปี 2554” … น่าจะทำให้ทุกท่านกังวลน้อยลงบ้างนะ”

<เกาะติด 60 วันอันตราย จุดเปลี่ยนน้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่>
ชาวกรุงเองก็กังวล เพราะเคยมีประสบการร์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มาแล้ว ซึ่งช่วงนั้นหลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ โดยกรุงเทพฯน้ำได้เริ่มท่วมจริงจังตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2554 ลากยาวมาจนถึงช่วงวันที่ 19 พ.ย. มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 36 เขต จาก 50 เขต

ส่วนภาพรวมมหาอุทกภัยในภาพรวมไม่รวมกรุงเทพ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนก.ค.2554 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2555 มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

ผู้เชี่ยวชาญสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ยังให้เกาะติดช่วง 2–3 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จากโดยปกติของบ้านเราจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน ก.ย. อยู่แล้ว สำหรับภาคเหนือและภาคกลาง แต่ปัจจัยเสริมอีกอย่างในช่วงเดือน ก.ย. คือพายุจร คาดว่าจะเข้าไทย 1–2 ลูกในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้นมันจึงเป็นเดือนที่ตัดสินว่าน้ำที่เข้ามาในช่วง ก.ย. จะเข้ากรุงเทพฯ ขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องประเมินต่อเนื่อง

ซึ่งก็สอดคล้องกับ สนทช. คาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทยจำนวน 2 ลูก และมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค.นี้

รศ.ดร.เสรี ยังได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงช่วง 60 วันอันตราย การจัดการภาวะวิกฤติและสื่อสารความเสี่ยงควรทำอย่างไร โดยระบุว่า ความเสียหาย ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่สำหรับประเทศไทยในอดีตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000–1,000,000 ล้านบาท (น้ำท่วมใหญ่ 2554) โดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ การบริหารวิกฤตจึงมีความสำคัญสูงสุด ประกอบกับการสื่อสารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติต้องมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนที่กำลังวิตกกังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น

หลายหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลต้องชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ ไม่เทคนิคมาก ทำให้เข้าใจยากจนขาดความน่าสนใจ ดังนั้น 60 วันจากนี้ต่อไป จึงเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ไม่เพียงการบอกความจริงกับประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เพียงคำว่า “เอาอยู่” หรือไม่ท่วมเหมือนปี 2554

<ผลกระทบน้ำท่วมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนักวิเคราะห์>
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าปัญหาอุทกภัยสามารถสร้างความเสียหายได้หลากหลายประเภทมากกว่าภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน โรงงาน เครื่องจักร ยานพาหนะ เส้นทางคมนาคม และสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่พืชเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบตามปริมาณน้ำและความรุนแรงในการไหลผ่านพื้นที่ โดยหากระดับน้ำท่วมทยอยเพิ่มขึ้นไม่มากและระบายได้เร็วจะไม่ก่อความเสียหายโดยสิ้นเชิงแก่พืชบางประเภท แต่หากการไหลของน้ำรุนแรงและแช่ขังในระดับสูงหลายวัน จะเกิดความเสียหายมากและจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลนได้

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้ประเมินพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ 3 ระดับ ได้แก่
– กรณีฐาน (Base case) จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 1.7 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 260 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 4.2 พันล้านบาท หรือส่งผลให้ GDP ลดลง –0.025% จากกรณีปกติ
– กรณีเลวร้าย (Worse case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1.3 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 195 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 3.2 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ที่ –0.019%
– กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 0.9 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 130 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 2.1 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ที่ –0.012%

ทั้งนี้ ขนาดของผลกระทบต่อ GDP ขึ้นอยู่กับ
1. ปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำ
2. พื้นที่ที่เกิดอุทกภัย
3. ตำแหน่งที่ตั้งหน่วยเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือน โรงงาน พื้นที่เกษตร ดังนั้น หากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่ในบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง เสียหายต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น

<เอกชนหวั่นวิกฤตน้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจเสียหาย 6,000 ล้านบาท>
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นคาดว่าความเสียหายจะประมาณ 4,000–6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.02–0.03% ของ GDP ซึ่งหอการค้าฯ ยังคงต้องติดตามและประเมินผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากหลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ในระยะสั้นหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวงเกิดการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝน

ขณะนี้แม้ว่าจะมีบางพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่เราก็ยังคงเห็นภาพของการช่วยเหลือแบ่งปันจากคนไทยด้วยกันในหลายช่องทาง พอให้ได้ใจฟู แต่หลังจากนี้ผู้ประสบภัยคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับมา ความหวังของชาวบ้านที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทัน คงฝากไว้ที่รัฐบาลที่จะมาตรการออกมาได้ทันและทั่วถึงครอบคลุม ท้ายนี้ BTimes เองก็ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยทุกคน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles