อุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเราดูเหมือนจะยังได้รับบาดแผลสาหัสจากพิษเศรษฐกิจ สะท้อนจากยอดขายในปี 2567 ที่ผ่านมาที่พลาดเป้าอย่างแรง โดยยอดขายรวมอยู่ที่ 572,675 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปี
ซึ่งปัจจัยกดดันสำคัญมาจากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ ต่อเนื่องมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงลิบลิ่ว ซึ่งทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 70% ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ปี 2567 ต้องลดลงมาอยู่ที่ 1.47 ล้านคัน ลดลง 20% จาก 1.83 ล้านคันในปี 2566 ด้วย
ปัญหาจากตลาดรถที่ซบเซาในปีก่อน นอกจากปัจจัยใหญ่จะอยู่ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ธนาคารหรือสถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อแล้ว อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อก็ยังจะอยู่ในระดับสูงอีก ซึ่งยิ่งทำให้การอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น และลดลง อีกทั้งการแห่แหนเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี ของบรรดาค่ายรถจากจีนที่เน้นการแข่งขันด้านราคา ลดแลกแจกแถมกันแบบกระหน่ำ จนมีประเด็นเรื่องดัมพ์ราคามาแล้วก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้ตลาดรถเงียบเหงาลง สวนทางฟากฝั่งรถอีวีที่ดูจะครึกครื้นมากกว่า
<ช็อค! วงการรถญี่ปุ่น นิสสันสั่งปิดโรงงานในไทย>
ข่าวที่ทำให้ใจหาย โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานและบรรดาบุคคลากรด้านรถยนต์ คงหนีไม่พ้นการที่ค่ายรถจากญี่ปุ่นอย่าง “นิสสัน” ที่เตรียมจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในไทยภายในเดือนเมษายน – มิถุนายน 2568 และปิด 2 แห่ง ยังไม่ระบุชัดเจนในประเทศใด ตามแผนลดต้นทุนครั้งที่ 4 กว่า 88,000 ล้านบาท
โดยเมื่อวันนี้ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น โดยคณะผู้บริหารระดับสูงเปิดแถลงว่าการตัดลดค่าใช้จ่ายตามการประกาศแผนลดต้นทุนในครั้งที่ 3 นั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงประกาศแผนตัดลดต้นทุนครั้งที่ 4 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องลดให้ได้ถึง 400,000 ล้านเยน หรือ 2,600 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 88,400 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2026 แบ่งเป็นตัดลดค่าใช้จ่ายการขายและธุรการมูลค่า 200,000 ล้านเยน หรือ 44,000 ล้านบาท และอีก 200,000 ล้านเยน หรือ 44,000 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างฐานการผลิต
ในแผนครั้งนี้จะประกอบไปด้วยการยุบรวมสายการผลิตรถยนต์ การปิดโรงงานจำนวน 1 แห่งในประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดช่วงระยะเวลาในไตรมาสที่ 1 หรือระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน ในปีงบประมาณ 2568 และปิดอีก 2 โรงงาน ซึ่งยังไม่ระบุว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศใด ในด้านบุคลากรของบริษัทนิสสันนั้นจะมีมาตรการปรับโครงสร้างพนักงานระดับบริหารในตำแหน่งสูง ด้วยการยกเลิกระบบและจำนวนพนักงานที่ทำงานอยู่ในสำนักงาน และลดจำนวนพนักงานฝ่ายบริหารลง 20% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
นิสสัน ยังได้ประกาศลดกำลังการผลิตลงปีละ 1 ล้านคัน จากเป้าเดิมที่ 5 ล้านคันมาเหลือ 4 ล้านคันภายในปีงบประมาณ 2569
สำหรับพนักงานนิสสันนั้น จะถูกปลดออก 2,500 คนทั่วโลก แต่เพิ่มจำนวนพนักงานถูกปลด 1,000 คนที่อยู่ในศูนย์สนับสนุนงานบริการ
นอกจากนี้โรงงานผลิตรถยนต์ และโรงงานผลิตระบบส่งกำลังของนิสสัน ได้กำหนดเป้าหมายด้วยการลดพนักงานลงมากถึง 5,300 คนภายในปีงบประมาณ 2568 และลดพนักงานจำนวน 1,200 คนในปีงบประมาณ 2569 ส่งผลจะมีพนักงานในสายการผลิตในโรงงานลดลง หรือปลดออกรวมกันเป็น 6,500 คนภายใน 2 ปีงบประมาณติดต่อกัน
นิสสัน มอเตอร์ ยังได้ประกาศปรับลดการคาดการณ์ผลกำไรจากการประกอบกิจการในปีงบประมาณปัจจุบันลงอีก 20% มาเหลือเพียง 120,000 ล้านเยน หรือกว่า 26,400 ล้านบาท หลังจากที่ได้ประกาศผลกำไรในไตรมาสที่ 3 พบว่าตกต่ำอย่างมากถึง -78% โดยมีมูลค่าผลกำไรเหลือเพียง 31,100 ล้านเยน หรือกว่า 6,842 ล้านบาท ซึ่งลดต่ำกว่าการคาดการณ์ค่าเฉลี่ยผลกำไรจากนักวิเคราะห์ที่คาดหวังที่ 63,200 ล้านเยน หรือกว่า 13,904 ล้านบาทด้วย
นอกจากแบรนด์นิสสันยังมีอีก 2 แบรนด์จากฝั่งญี่ปุ่นที่ประกาศยุติการผลิตในไทยคือซูบารุและซูซูกิ แม้จะยังคงทำตลาดในไทยต่อก็ตาม
<2 ค่ายญี่ปุ่น นิสสัน-ฮอนด้า ล้มดีลควบรวม>
ก่อนหน้านี้ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ และ นิสสัน มอเตอร์ เตรียมที่จะควบรวมกิจการกัน เพื่อหวังจะมาต่อสู้สงครามรถอีวีกับฟากฝั่งค่ายรถจีน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ราบรื่นอย่างที่ใครหลายคนรอคอย จนล่าสุดทั้ง 2 บริษัท ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยุติการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างกัน หลังจากที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงข้อเสนอจากฮอนด้าที่จะให้นิสสันเป็นบริษัทลูกในเครือของฮอนด้าด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้นิสสันตัดสินใจไม่ไปต่อ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทจะยังคงความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่ายกันก่อนหน้านี้ ร่วมกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ ด้วยต่อไป
<ยังมีหลายค่ายรักมั่น ปักฐานในไทยต่อ>
แม้ค่ายนิสสัน ซูบารุ และซูซูกิ จะโบกมือลาไทยไป แต่ทางด้านค่าย “มาสด้า” ยังมั่นคงกับประเทศไทย โดยล่าสุดบริษัทมาสด้า มอเตอร์ ประกาศทุ่ม 5,000 ล้านบาท เพื่อเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวีประเภท Mild Hybrid ในประเภทรถขนาดคอมแพคท์
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่ามาสด้าจะเริ่มต้นผลิตในรุ่นเอสยูวีไฟฟ้า ขนาดคอมแพค โดยกำหนดกำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน โดยการผลิตจะเน้นสนับสนุนการขายในตลาดในประเทศ และใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น อาเซียน เป็นต้น
และยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่ยังวางหลักที่ไทยเช่นกัน อาทิ โตโยต้าที่ก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2567 นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่าจะลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท อัปเกรดฐานผลิตสู่ไฮบริด รวมถึงเพิ่มการจ้างงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา
มิตซูบิชิ ที่ล่าสุดในปี 2567 ในการเพิ่มการลงทุนอีก 500 ล้านบาท พัฒนาสายการผลิตที่โรงงานประกอบรถยนต์ ภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า xEV
อีซูซุ ประกาศช่วงต้นปี 2567 ว่าจะลงทุนเพิ่ม 3.2 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี รองรับแผนการขยายการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ปิกอัพ อีวี และปิกอัพไฮบริด โดย ปิกอัพ อีวี เริ่มผลิตปีนี้ เป็นต้น
<รัฐบาลขายขนมจีบ ชูมาตรการภาษีดึงค่ายรถญี่ปุ่นอยู่ต่อ>
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) เหลือ 6–9% และรถยนต์ Mild Hybrid (MHEV) เหลือ 10–12% มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (2569–2575)
ขณะเดียวกันบีโอไอก็ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกประเภทที่มีการนำระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในสายการผลิตด้วย
ขณะที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ เน้นเข้ามาแก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่อรถ โดยเฉพาะรถเชิงพาณิชย์ที่ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน แต่ปล่อยสินเชื่อลดลง
โดยคุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่ากำลังพิจารณาให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยส่วนนี้ จากที่ผ่านมา บสย. ค้ำประกันเพียง 30%
<ส.อ.ท. หวังยอดขายปี 68 ไม่วืด>
ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วย โดยคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. คาดหวังว่ามาตรการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยพยุงด้านสินเชื่อ ถือเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะประชาชนภาคแรงงานที่ต้องใช้รถกระบะในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้านอุตสาหกรรมก็คาดว่าจะทำให้ยอดรถกระบะที่เคยตกลงมาระดับ 40% พลิกกลับมาเพิ่ม 10–15% ในปีนี้
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 5.5 แสนคัน การแข่งขันด้านราคาจะยิ่งรุนแรง รถไฟฟ้า Hybrid และ BEV ยอดขายรถกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด
แต่ไม่ว่าจะเป็นยอดขายรถยนต์ รถไฮบริด หรือรถอีวี จะดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งผลกระทบจากอุตสาหกรรมนั้นก็จะพันกันเป็นห่วงโซ่วนลูปต่อเนื่องไปยังภาพรวมเศรษฐกิจนั่นเอง