ตั้งแต่สิ้นสุดมาตรการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรการเดิมที่ตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรไป หลังจากนั้นคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือลดเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลลง โดยให้เหตุผลว่าเพราะต้องแบกรับภาระ กองทุนน้ำมันฯ ติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท ก็ทำเอาบรรดาปั๊มน้ำมันขยันขึ้นราคามาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะให้มีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ถึง 31 ก.ค. 2567 แล้วก็ตาม
โดยในมาตรการดูแลราคาพลังงาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้เห็นชอบทั้งหมด 3 มาตรการ ได้แก่
1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย. – 31 ก.ค. 2567
2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567
3. ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค. – ส.ค. 2567 รวม 4 เดือน
เคาะงบกลาง 1.8 พันล้านอุ้มเฉพาะค่าไฟ
สำหรับมาตรการดูแลประชาชนครั้งนี้ใช้งบกลางดูแลค่าไฟฟ้าให้กลุ่มเปราะบาง 1,800 ล้านบาท ส่วนการดูแลน้ำมันและ LPG จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ดูแล ส่วนเหตุผลที่ ครม.อนุมัติกรอบราคา 33 บาทต่อลิตร เพราะต้องยอมให้ราคาดีเซลขยับได้ถึง 33 บาทต่อลิตร เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ควักเงินอุดหนุนเฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร ถือเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังอยู่ช่วงขาลงทำให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ต้องปรับขึ้นราคาช่วงนี้ แต่ลดอัตราการชดเชยลงได้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดผันผวนสูงเกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้รัฐบาลกำหนดเพดานดีเซล 33 บาทต่อลิตร เพราะสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34–35 บาทต่อลิตร และอาจปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยจะปรับค่อยเป็นค่อยไป
ซึ่งล่าสุด 31 พ.ค. 2567 กบน. ก็ประกาศปรับราคาดีเซลขึ้นมาอีก 50 สตางค์ต่อลิตร โดยอ้างว่าจะต้องรักษาสภาพคล่องของกองทุนฯ ในช่วงที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน ต่อเนื่องจากสถานการณ์ด้านสงครามและเศรษฐกิจ จนส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลทุกประเภทมีราคาขายปรับขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร ดันราคาขายขึ้นมาเป็น 32.99 บาทต่อลิตร เกือบแตะเพดาน 33 บาทแล้ว ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นราคารวม 6 ครั้งสุทธิ 3.00 บาท/ลิตร ทำสถิติราคาน้ำมันดีเซลสูงสุดในรอบ 1 ปี 1 เดือนผ่านมา
ขณะที่สถานะกองทุนพลังงานเกิดวิกฤต สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2567 พบว่า ติดลบ 111,345 ล้านบาท ประกอบด้วย บัญชีน้ำมันติดลบ 63,655 ล้านบาท และบัญชีก๊าซฯ แอลพีจี ติดลบ 47,690 ล้านบาท
หากย้อนกลับไป ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบสัดส่วน 90% ของความต้องการใช้ ในขณะที่ดีเซลถือเป็นต้นทุนของทุกภาคส่วนในประเทศสูงถึง 70 ล้านลิตรต่อวัน ด้วยโครงสร้างน้ำมันกว่าจะผ่านกระบวนการ ภาษี ต้นทุน ค่าการตลาด หรืออื่นๆ แล้วใดๆ ก็ตาม ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเราเมื่อถึงผู้ซื้อหรือผู้ใช้น้ำมันต้องจ่ายในราคาที่แพง
โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศของแต่ละปั้มมีราคาแตกต่างกัน โดยพบว่า วันนี้ 31 พ.ค. 2567 ราคาน้ำมันดีเซลของเชลล์เกรดพรีเมี่ยมที่เรียกว่า วีพาวเวอร์–ดีเซล มีราคาสูงสุดถึงลิตรละ 50.24 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้งติดต่อกันรวม 1.50 บาทต่อลิตร โดยตั้งแต่วันที่ 29 ปรับขึ้น 1 บาทต่อลิตร และวันที่ 30 ปรับขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเกรดดังกล่าวมีราคาถึง 2 ลิตรกว่า 100 บาท สอดรับกับราคาน้ำมันดีเซลของเชลล์เกรดธรรมดาที่เรียกว่า ฟิวเซฟ–ดีเซล มีราคาสูงสุดถึงลิตรละ 33.64 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้งติดต่อกันรวม 0.60 บาท/ลิตร โดยตั้งแต่วันที่ 29 ปรับขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร และวันที่ 30 ปรับขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร
จากการปรับขึ้นราคาดีเซลหลายต่อหลายครั้งส่อแววว่าราคาน้ำมันดูท่าจะฉุดไม่อยู่ กระทรวงพลังงานอาจจะต้องขยายเพดานราคาน้ำมันแล้วหรือไม่นั้น ขณะนี้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ก็กำลังเร่งหาแนวทางในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ในภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวนหลังจากนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพประชาชนมากนัก โดยเบื้องต้นไว้วางไว้ 3 แนวทาง คือการของบกลางของรัฐบาลมาบริหารจัดกลางดูแลราคาน้ำมันดีเซล ทางเลือกต่อมาคือการรอการจัดสรรงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 แล้วเสร็จ และจะขอความร่วมมือไปยังกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ให้พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และทางเลือกสุดท้ายคือการขอมติคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติเพิ่มเพดานราคาน้ำมันดีเซลจากปัจจุบันไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ไปเป็นเพดานราคาไม่เกินลิตรละ 35 บาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตั้งแต่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้ามารับตำแหน่งก็ได้รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วว่าจะเข้ามารื้อโครงสร้างพลังงานอย่างจริงจัง แต่ความคืบหน้านั้นก็เปิดเผยได้เพียงว่าคืบหน้าระดับหนึ่ง (ละมันระดับไหน?)
โดยที่นายพีรพันธ์ บอกว่าเหตุผลที่ตอนนี้ตรึงราคาให้อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตรไม่ได้นั้น ก็เพราะว่า ที่ผ่านมาตลอด 50 ปีเราใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงินงบประมาณ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋ารัฐบาล ที่ผ่านมาเงินมากเราก็ตรึงราคาได้มาก แต่ว่าเงินน้อยตอนนี้เราก็ตรึงได้น้อย ถ้าเราเก็บเงินได้มากเดี๋ยวเราก็ตรึงได้อีก แต่ว่าระบบนี้เราไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ต้องปรับระบบใหม่ซึ่งตนเองกำลังเขียนกฎหมายอยู่ และจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ซึ่งตอนนี้เขียนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ชี้แจงด้วยว่าเดิมทีการดูแลราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 ที่มีการตั้งกองทุนน้ำมันแต่ยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับ มามีกฎหมายรองรับตั้งแต่ปี 2562 โดยก่อนปี 2562 นั้นคำสั่งที่ใช้ในการดำเนินงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ในคำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันมีอำนาจในการดูแลหรือตรึงราคาน้ำมันได้ 2 วิธี หรือ 2 ขา คือการใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ และ อีกส่วนหนึ่งคือการให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี
ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯในอดีตไม่มีอำนาจในการเก็บภาษีแต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของน้ำมันแต่ละชนิด ดังนั้นเราสามารถใช้เครื่องมือทั้งสองส่วนนี้ในการดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้ ซึ่งเราสามารถใช้ทั้งเงินในกองทุนน้ำมัน และเพดานภาษีมาดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งก็คือการมีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันแต่ละประเภท แต่คนเก็บภาษีนั้นคือกระทรวงการคลัง แต่พอออกกฎหมายในปี 2562 แล้วไปตัดอำนาจในการกำหนดภาษีของกองทุนน้ำมันฯออก เหลือแต่การใช้เงินอย่างเดียว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ นั้นติดลบ เป็นหนี้จำนวนมากตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งมองว่าควรจะกลับมาเป็นแบบเดิม
เอาเป็นว่า ถ้าตราบใดรัฐบาลไม่ได้ย้อนไปแก้ที่ต้นทาง หรือที่โครงสร้างน้ำมันอย่างจริงจัง และยังมีการขยับราคาเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ อีก เชื่อเลยว่าเราคงได้เห็นดีเซลลิตรละ 40 บาทอีกไม่นานนี้ ก็คงไม่เกินจริงหรอก ว่าไหม?