สงครามบุฟเฟต์ยังเดือด สาดโปรโมชัน–หั่นราคาดึงลูกค้าคึกคัก เพิ่มทางเลือกผู้บริโภค สู้ฟัดค่าครองชีพยังฝืด เศรษฐกิจรอวันฟื้น

สงครามบุฟเฟต์

ปัจจุบันธุรกิจร้านสุกี้ ชาบู ในบ้านเราเพิ่มขึ้นมากมายหลายแบรนด์ให้เราได้เลือก ทั้งแบรนด์น้องใหม่ที่มาจากต่างประเทศ แบรนด์จากผู้ประกอบการไทย และราคาก็ยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค

ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหล่าบรรดาร้านสุกี้แบรนด์ต่างๆ ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ “สงครามบุฟเฟต์” ด้วยการจัดโปรโมชันอิ่มไม่อั้นราคาพิเศษเกิดขึ้น ซึ่งจุดเริ่มต้นของศึกครั้งนี้ก็มาจาก แบรนด์ “MK” ที่เปิดฉากเป็นเจ้าแรก โดย MK ได้จัดโปรโมชัน MK Buffet ในราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น อิ่มไม่อั้น 299 บาท ในเวลา 90 นาที ซึ่งโปรฯนี้ ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ถึง 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา แต่จะจัดเฉพาะสาขาที่เข้าร่วมรายการ สาขาในบิ๊กซีและโลตัส ไฮไลท์คือการเสิร์ฟทั้ง “เนื้อบริสเก็ตออสเตรเลีย หมูสไลซ์ หมูนุ่ม สาหร่ายทรงเครื่อง และหลากหลายเมนู” ได้ไม่อั้น

แต่ต่อมา แบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” ก็จัดโปรฯ ฉลองครบ 1 ล้านผู้ติดตาม ลดราคาจาก 219 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 199 บาท หลังจาก MK แค่ไม่กี่วัน (เริ่มตั้งแต่วันที่ 11–30 มิถุนายน 2568) เฉพาะวันจันทร์–ศุกร์ ตั้งแต่ 11.00–17.00 น. พร้อมกับจัดโปรโมชั่น เสิร์ฟฟรีน้ำจิ้มพอนสึยูสุ เมื่อนำไข่ไก่ Cage Free มาทานที่ร้านสุกี้ตี๋น้อย เริ่ม 13 มิถุนายนหรือจนกว่าสินค้าจะหมดด้วย ต่อมาก็ได้เพิ่มช่วงเวลาโปรโมชันเอาใจคนทำงานในช่วงวันเสาร์–อาทิตย์ด้วย

จากนั้นเหล่าบรรดาแบรนด์อื่นๆ ก็จัดโปรฯ ตามๆ กันมา อย่างเช่น “ลัคกี้สุกี้” อิ่มไม่อั้นเพียง 276 บาท ก็ไม่ตกขบวน เอาใจสายเนื้อ ส่ง “เนื้อออสเตรเลียพรีเมียม” เสิร์ฟฟรี ไม่อั้น ตั้งแต่วันที่ 10-30 มิถุนายน 2568 หรือ “นีโอสุกี้” ที่ จัดโปรโมชั่น 1 แถม 1 สุกี้ชุดชาบู ราคา 329 บาท ทุกวันพุธและพฤหัสบดี และทุกสาขา ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ไม่ต้องเป็นสมาชิก ไม่จำกัดจำนวน เป็นต้น

เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองของสายกิน สายบุฟเฟต์กันเลยก็ว่าได้ ด้วยราคาที่ปรับลดลงมาสู้กันในตลาด ในภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกพาครอบครัวไปทานบุฟเฟต์กันสักมื้อ หรือในโอกาสพิเศษและอยากพิเศษก็ตาม

ซึ่งสิ่งที่สังเกตได้จากการที่แบรนด์ดังที่อยู่มานานหันมาจับตลาดบุฟเฟต์ แถมตั้งราคาที่ต่ำลงมาก็เพื่อความอยู่รอด ด้วยจำนวนคู่แข่งในตลาดที่มีมากขึ้น กำลังซื้อลดลง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารยอดขายตกลงกันหมด เมื่อกำลังซื้อหาย นักท่องเที่ยวน้อยลง การลดราคาอาจจะเป็นกลยุทธ์ทางเลือกที่เหมาะกับสถานการณ์ในตอนนี้ที่สุด อีกทั้งร้านสุกี้ที่ลงมาทำบุฟเฟต์ ราคาไม่แพงมาก เพราะต้องปรับตัวรับกับกระแสและกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงไม่แปลกใจที่เจ้าใหญ่แบรนด์ใหญ่จะลองลงมาวิ่งเล่นในตลาดนี้บ้าง

เมื่อผ่านช่วงเดือนมิถุนายน อาจจะคิดว่าสงครามสงบแล้ว แต่ก็ยังมีแบรนด์ใหญ่และแบรนด์น้องใหม่ที่โตไว ฟาดฟันกันด้วยราคาไม่หยุด โดยหลังจากที่ MK ได้ทดลองตลาดบุฟเฟต์ไปกับน้องๆ ไปเมื่อเดือนก่อน ล่าสุด MK ก็ได้ประกาศเข้าสรภูมิราคาบุฟเฟต์อย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ในชื่อ “โบนัส สุกี้” ที่ชูจุดเด่นด้านคุณภาพในราคาที่เข้าถึงง่าย เริ่มต้น 219 บาทต่อคน (ไม่รวมเครื่องดื่มและภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งได้ประเดิมสาขาแรกที่โรบินสันไลฟ์สไตล์ สระบุรี ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา พร้อมจัดโปรโมชันพิเศษในช่วงเปิดตัวจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2568

การเปิดตัวโบนัส สุกี้ ยิ่งทำให้ตลาดบุฟเฟต์ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีการแข่งขันสูงดุเดือดมากขึ้น โดยคู่แข่งรายสำคัญของโบนัส สุกี้ ก็น่าจะต้องเป็น ลัคกี้สุกี้ ที่มีเมนูกว่า 40 รายการในราคาสุทธิ 276 บาท และสุกี้ตี๋น้อย ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจัดโปรฯดึงดูดลูกค้าอยู่เรื่อยๆ

สำหรับเมนูเด่นของโบนัส สุกี้ ชูจุดขายด้วยวัตถุดิบคุณภาพหลากหลายรายการ เช่น หมูสันคอ เนื้อบริสเกตออสเตรเลีย กุ้งสด ลูกชิ้น ติ่่มซำ ของทานเล่น และเครื่องดื่ม โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 05.00 น.

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้ประเมินสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 ด้วยว่าจะโตชะลอลงจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเสี่ยงไม่โต คาดว่ามูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 646,000 ล้านบาท เติบโต 2.8% จากปี 2567 ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่เติบโต 4.6% หรือมีมูลค่า 657,000 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2567 ธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 562,000 ล้านบาท เติบโต 3%

ในช่วงสงครามราคาเดือดปุดๆ ในรายเล็กๆ หรือรายใหม่ๆ ที่แบรนด์อาจจะยังไม่คุ้นหู หรือแบรนด์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศหลายร้านต้องปิดตัวกันลงไปอยุ่หลายราย ด้วยหลายปัจจัยทั้งเศรษฐกิจที่ไม่แน่ไม่นอน ท่องเที่ยว กำลังซื้อที่ดูจะยังไม่แข็งแรงพอในการผลักเศรษฐกิจภาพใหญ่ให้มันเทคตัวขึ้นไปฟื้นได้ดั่งใจใครหลายๆ คน “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สำนวนชวนขำสุดคลาสสิกที่ช่างเปรียบเปรยนี้ก็คงจะเปรียบได้ไม่เกินจริงในภาวะแบบนี้ว่าต่อจากนี้เราจะได้เห็นแบรนด์ไหนร้านไหนปิดตัวลงอีกบ้าง…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles