ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสโปรฯ พิซซ่ามาแรงเกินต้าน เพราะบิ๊กแบรนด์พิซซ่า 2 ค่าย ‘Pizza Hut’ และ ‘The Pizza Company’ ที่ต่างใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านโซเชียลมีเดียกันดุเดือด แจกขิงแจกข่ากันเป็นว่าเล่น
โดยจุดเริ่มต้นของสงครามโปรโมชันครั้งนี้ มาจาก The Pizza Company ที่ประกาศลดราคาพิซซ่าหน้าใดก็ได้ ขนาดกลาง เหลือเพียง 99 บาทเท่านั้น ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกที่มีการลดราคาพิซซ่าหลักสิบ และด้วยความคุ้มค่าสุดๆ ของโปรโมชันนี้ จึงทำเอาลูกค้าที่เห็นแล้วอดใจไม่ไหว แห่กันไปซื้อกันจนคิวยาววววววว แน่นร้าน บางสาขาขายดีจนแป้งพิซซ่าหมด
หลังจาก The Pizza Company ลดราคา ทาง Pizza Hut ก็ไม่ยอมน้อยหน้า รีบออกโปรโมชันลดราคาตามมาติดๆ ด้วยโปรฯ พิซซ่าขนาดกลาง เหลือเพียง 98 บาท ต่างกันเพียง 1 บาท แต่ก็เรียกกระแสได้ไม่แพ้กัน
หลังจากที่ทั้งสองแบรนด์ เปิดศึกลดราคากันไป ระหว่างพิซซ่าราคา 99 บาท กับ 98 บาท ไม่ได้จบแค่ขิงกันเรื่องลดราคา แต่ยิ่งดุเดือดขึ้นอีก เมื่อแอดมินเพจ ต่างฝ่ายต่างผุดวิวาทะฟาดกันไปมา ทำเอาชาวโซเชียลคอมเม้นสนั่น สร้างกระแสไวรัลในโซเชียลมีเดีย ทำให้หลายแบรนด์ดังในกลุ่มธุรกิจอาหารต่างร่วมวงทำ Real-time Content เกาะกระแสไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น Sizzler, 7-Eleven, Swensen’s ที่แอดมินเพจของแต่ละแบรนด์ไม่มีใครยอมใคร ยกตัวอย่างเช่น แอดมินเพจ SizzlerThai ที่โพสต์ชวนเข้าร้านเลยว่า “กินแป้งเยอะๆ กินผักบ้างนะ เดินเข้า Sizzler เล่อะ” ส่วนแอดมินเพจ 7-Eleven Thailand ก็ไม่น้อยหน้า โพสต์ขิงทันทีว่า “99 98 เค้าไปแย่งกัน คัดสรรบอกของเรา 79.- 1 แถม 1 มาได้เรื่อยๆ ไม่ต้องรีบครับ” เป็นต้น
ซึ่งหลัง 2 แบรนด์พิซซ่า โพสต์โซเชียลแจกขิงกันทั้งไร่แล้ว ก็มีลูกค้าเรียกร้องให้ Domino’s Pizza จัดโปรหลักสิบบ้าง แต่ทาง Domino’s Pizza ก็ไม่พลาดกระแส แต่ไม่ได้เป็นการร่วมวงลดราคา เป็นการบอกถึงจุดยืนของแบรนด์ที่เน้นคุณภาพและการรักษามาตรฐาน ทำโปรโมชันโดยอิงหลักความเป็นจริงในราคาที่สมเหตุสมผล พร้อมติดแฮชแท็ก, โดมิโน่ส์ขายพิซซ่าไม่ขายขิง ทำเอายอดคอมเมนต์ใต้โพสต์พุ่งรัวๆ การห้ำหั่นกันระหว่างแบรนด์จึงมีแค่ The Pizza Company และ Pizza Hut
ที่จริงแล้วการจัดโปรฯ เรียกแขก โดยการใช้ “ราคาสินค้าต่ำ” มาดึงดูดลูกค้า เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในแวดวงการตลาดอยู่แล้ว ยิ่งในยุคที่ของแพง หลายอย่างขึ้นราคาไม่พัก การลดราคาในช่วงสั้นๆ ย่อมมีผลกระตุ้นยอดขาย ยิ่งราคาถาดละไม่ถึงร้อย ยิ่งดูน่าดึงดูด นานๆ จะมีที หรือนานๆ กินที แต่ราคาถูกก็น่าไปต่อแถว
แต่กลยุทธ์โปรฯ แรงเรียกแขก ผลที่ตามมามีทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยเฉพาะกระแสลบตีกลับจากไวรัลเป็น “ทัวร์ลง” จากการบริหารจัดการของร้าน ฝั่งของ The Pizza Company ที่ไม่ได้มีการจำกัดการซื้อสินค้า ส่งผลให้มีลูกค้าบางราย บางออร์เดอร์โกยพิซซ่าจำนวนมาก หลักหลายสิบถาด หรืออาจจะเรียกก็ได้ว่าพ่อค้าแม่ค้ารับหิ้ว สุดท้ายต้องรอกันหลายชั่วโมง หรือในกรณีแป้งหมดตั้งแต่ 2 ชั่วโมงแรกที่เปิดให้บริการ หรือบางสาขามีออร์เดอร์สะสม ตลอดจนคุณภาพสินค้าที่ดูเหมือนจะลดลง จากปริมาณที่ขายเยอะมาก เช่น พิซซ่าไหม้ หรือแป้งแข็งไม่สุก นอกจากคิวลูกค้าที่มารอพิซซ่าแล้ว คิวรถทัวร์ของบรรดาชาวโซเชียลก็จอดรอกันเพียบ ซึ่งบางคอมเม้นแรงเกินจะบรรยาย
รวมถึงในแง่ของกระแสวิจารณ์ในเรื่องของการทำงานของพนักงานหน้าร้าน ที่ต้องแบกรับทั้งการทำงานอย่างหนัก หนังหน้าไฟรองรับอารมณ์ของลูกค้าที่รอคิวจนหัวเสีย ซึ่งความเห็นบนโลกโซเชียลก็มีทั้งให้กำลังใจ และสะท้อนไปยังแบรนด์ในการวางแผน ระบบการจัดการออร์เดอร์ และการเตรียมบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อรับมือกับศึกใหญ่
ส่วนการพูดถึงในแง่บวกของ The Pizza Company และ Pizza Hut ส่วนใหญ่เป็นการชื่นชมโปรโมชันที่คุ้มค่า และชื่นชอบที่แบรนด์ออกมาแข่งกันแบบนี้ ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์
สำหรับปัจจุบัน ‘Pizza Hut’ บริหารงานโดยตระกูล ‘มหากิจศิริ’ มีบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เข้าไปลงทุน ขณะที่ ‘The Pizza Company’ เป็นของมหาเศรษฐี นักธุรกิจใหญ่ ‘วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค’ เจ้าของอาณาจักร ‘ไมเนอร์ฯ’ ที่มีธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารถึง 2,642 สาขาทั่วโลก จากกว่า 10 แบรนด์ เช่น The Pizza Company, Swensen’s, The Coffee Club, Dairy Queen, Bonchon, Burger King และ Sizzler
สำหรับตลาดพิซซ่าในไทยปี 2566 มีมูลค่าราว 11,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 10% โดยผู้ที่ครองสัดส่วนมากที่สุดตกเป็นของ ‘The Pizza Company’ แบรนด์พิซซ่าสัญชาติไทยที่เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2544 ท่ามกลางข้อพิพาทที่ยืดเยื้อยาวนานนับปีระหว่าง Tricon Global Restaurants หรือ Yum! Brands ในปัจจุบัน และไมเนอร์ ฟู้ด บริษัทแม่ของร้าน Pizza Hut ที่ขณะนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมียอดขายเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ทั้งยังได้ชื่อว่า เป็น “มาสเตอร์ แฟรนไชส์” ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแถบเอเชียด้วย
จะเห็นได้ชัดว่าแม้ผู้เล่นในตลาดพิซซ่าในบ้านเราจะน้อยราย เพราะมีแบรนด์ระดับบิ๊กอยู่แค่ 2–3 แบรนด์ แต่การแข่งขันแสนจะดุเดือด โดยการทำการตลาดโซเชียลที่ทุกวันนี้ มาไวไปไว ในแง่ยอดขายได้มาเป็นกอบเป็นกำแน่ แต่ประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจต่อแบรนด์ย่อมจะมีผลในเชิงจิตวิทยาหรือความภักดีต่อแบรนด์ (Loyalty) อาจจะหายไปจากฐานลูกค้าเก่าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาคุณภาพสินค้าและบริการให้คงที่ นอกเหนือจากราคาย่อมเป็นตัวเลือกที่สำคัญที่ทุกแบรนด์ต้องมาร์กไว้ในใจเสมอ…