นับถอยหลังอีกแค่ 1 เดือน เราก็จะเดินทางกันมาถึงเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี 2567 แล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจนอกจากในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ก็ดูเหมือนจะยังลุ่มๆดอนๆ หลายอุตสาหกรรมยังมีเสียงบ่นถึงปัญหา และวิกฤตที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายกันอยู่หลายธุรกิจ
อย่างเช่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนต.ค.67 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่ายอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 37,691 คัน ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน โดยนับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาดโรคโควิด-19 เดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้ต้องมีการรื้อเป้าหมายการผลิตรถยนต์ใหม่
โดยคุณสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.บอกว่า ได้มีการปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2567 อีกครั้ง หลังจากภาพรวมตลาดทั้งในและต่างประเทศได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย โดยเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2567 จากเดิมตั้งไว้ 1,700,000 คันปรับเป็น 1,500,000 คัน ลดลง 200,000 คัน เป้าหมายการผลิตขายในประเทศลดลงจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน และเป้าการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน
คุณสุรพงษ์ บอกว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงเป็นผลมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน แม้ว่าในช่วงปลายเดือนนี้จะมีงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นภาพรวมตลาดให้มีความคึกคัก ซึ่ง ส.อ.ท.ประเมินว่ายอดจองรถภายในงานจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสถาบันการเงินจะยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่ดี เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้เสียยังสูงอยู่ ดังนั้นจึงประเมินว่าในปีนี้ เป้ายอดขายที่เคยประกาศไว้ว่าจะทำได้ 550,000 คัน ก็ลดลงเป็น 450,000 คัน
ด้านคุณยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ของ ส.อ.ท.ออกมาบอกว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ถือว่าตกต่ำสุดในรอบ 15 ปี เพราะว่าที่ผ่านมา ส.อ.ท. มีการปรับลดเป้าการผลิตมาแล้ว 2 ครั้งๆ ละ 2 แสนคัน จากเป้าเมื่อต้นปี 1.9 ล้านคัน ลงมาเหลือ 1.7 ล้านคันเมื่อช่วงกลางปี และล่าสุดเหลืออยู่ที่ 1.5 ล้านคัน ขณะที่แนวโน้มในปี 68 ยังมองว่ายังซบเซาต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
แน่นอนว่าปัจจัยใหญ่สำคัญคงหนีไม่พ้น”หนี้”ที่ฉุดกำลังซื้อของประชาชน จากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนล่าสุดในช่วงไตรมาสสอง ปี 2567 จาก”สภาพัฒน์” สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าหนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวชะลอลง โดยมีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ครัวเรือนลดลงและตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้น
และหากดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ลดลงเหลือ 89.6% เป็นการปรับลดลงต่ำกว่าสัดส่วน 90% ต่อจีดีพีเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ไตรมาส หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 91.2%
ด้านคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ยังได้เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงรายงานภาระหนี้สินภาคครัวเรือน จากสถาบันการเงิน 157 แห่งที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ด้วยว่า หนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโร อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท (หนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด 16.3 ล้านล้านบาท) อัตราการเติบโต 0.5% yoy ถ้าเป็น QoQ จะ -0.2%
สรุปคือสินเชื่อไม่โต เศรษฐกิจในไตรมาส 3 เติบโต 3% ในช่วง 9 เดือน โต 2.3% สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก -4.6% yoy สินเชื่อเบิกเกินบัญชี -4.5% yoy ระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.8% ของหนี้รวม 13.6 ล้านล้านบาท โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในไตรมาส 4 ปี 66 มาสู่ 8.8% ในไตรมาส 3 ปีนี้
ซึ่งหนี้ NPLs หรือหนี้เสีย ไตรมาส 3/67 อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.1% และเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งพบว่า NPLs สินเชื่อบ้าน รถยนต์ เครดิตการ์ด และสินเชื่อส่วนบุคคลยังนิ่ง ๆ หรือโตไม่มากจากไตรมาสก่อน แต่ที่กังวลมาก คือ สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก หรือ SME ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 20% และเพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสก่อนหน้า
แต่หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการแก้หนี้กลุ่มเปราะบาง ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และกลุ่มเอสเอ็มอี ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี โดยพักดอกเบี้ย 3 ปี จ่ายเฉพาะเงินต้นปีแรกจ่าย 50% ปีที่2 จ่าย 70%และปีที่3 จ่าย 90% นับว่าเป็นแรงจูงใจให้คนเป็นหนี้สมัครเข้าร่วมมาตรการถึง 50% ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็คาดว่าปีหน้าหนี้เสียจะหายไปถึง 50% หรือ 6 แสนล้านบาท ส่งผลให้หนี้เสียปี 2568 อาจจะไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ด้านคุณเกรียงไกร เธียรนุกล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เสนอรัฐบาลให้จัดการกับปัญหานี้ โดยขอให้ตั้งกองทุน 5 พันล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดทุนสินเชื่อ เพื่อยุติปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลายส่งผลกระทบไปยังห่วงโซ่การผลิต หากมีการชดเชยสินเชื่อให้คันละ 2-3 หมื่นบาท หรือมากสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท ก็จะช่วยสร้างยอดขายเพิ่มได้อีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน เพราะตอนนี้กำลังซื้อหดหาย ต้องรักษาห่วงโซ่การผลิตเอาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้น จะส่งผลกระทบไปถึงการจ้างงาน ส่วนปัญหายานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น จะมีการประชุมบอร์ดในวันที่ 4 ธ.ค.67 ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน แต่ได้ข่าวว่ามีค่ายรถยนต์ของจีน เตรียมลงทุนซื้อบริษัทประกันเพื่อมารับทำประกันให้รถ EV ในไทยด้วย
อีกกลไกหนึ่งที่สะท้อนสถานการณ์ตลาดยานยนต์ไทยนั่นก็คือ สินเชื่อรถ ซึ่งที่ผ่านมาซบเซาไม่แพ้กัน ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าสินเชื่อในไตรมาสที่ 3/67 พบว่า สินเชื่อหดตัว -2% ในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมาจากการชำระหนี้ และธุรกิจมีการออกหุ้นกู้ รวมถึงสินเชื่อรายย่อยชะลอตัว โดยหากหักการชำระหนี้คืนภาครัฐจะอยู่ที่ราว 8.4 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของสินเชื่อรถยนต์จะหดตัว -7.6% ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็น 3 ไตรมาส เป็นผลมาจากการขายขาดทุนรถยึด และราคารถที่ถูกลง ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
นอกจากในตลาดรถมือหนึ่งที่ซบเซาแล้ว ตลาดรถมือสองก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะทางด้านสหการประมูล ออกมาให้ข้อมูลด้วยว่า ในปีนี้มีรถมือสองเข้ามาในลานประมูลของสหการประมูล 2.5 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นรถกระบะถึง 60% และในปีหน้า (68) ก็คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ ที่ 2.5 แสนคัน ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งหนี้เสีย-หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ขณะเดียวกัน รถ EV จีน ก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจรถยนต์ทั้งระบบ จากผลกระทบในเชิงโครงสร้างราคา ทำคนชะลอการตัดสินใจซื้อ จากความไม่แน่นอนของราคา
ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ใหม่ในปี 2568 สหการประมูล มองว่า จะมีปริมาณใกล้เคียงปีนี้ ราว 5.5 – 5.7 แสนคัน และน่าจะทรงตัวในระดับนี้ต่อเนื่องอีก ประมาณ 1-2 ปี
ข้อมูลจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ระบุด้วยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ หรือ ลิสซิ่ง ประสบปัญหาด้านความสามารถในการทำกำไร โดยบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองได้รับผลกระทบมากที่สุด มีกำไรลดลงถึง 93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมาด้วยกลุ่มบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่กำไรลดลง 71% และกลุ่มบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่กำไรลดลง 48% โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มรถจักรยานยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามด้วยรถยนต์มือสองและรถบรรทุกตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตก็เพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองหนี้เสียและการขาดทุนจากการขายรถยึด อันเนื่องมาจากราคารถมือสองที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มรถบรรทุกและรถยนต์ ทั้งนี้ กลุ่มรถยนต์มือสองมีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านเครดิตมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มรถบรรทุกและรถจักรยานยนต์ตามลำดับ
ขณะที่การเติบโตของธุรกิจเช่าซื้อ ทริสเรทติ้ง มองว่ายังคงชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและหนี้ครัวเรือนที่สูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ การแข่งขันคาดว่าจะยังไม่รุนแรงแต่ยังมีการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าคุณภาพดีที่มีอยู่จำกัด ซึ่งทำให้การเพิ่มอัตราผลตอบแทนเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นทำได้อย่างจำกัด นอกจากนี้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อจะยังคงอยู่ในระดับสูง
ในส่วนคุณภาพสินเชื่อคาดว่า จะยังคงอ่อนแอเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการขาดปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี 2567 และแม้มาตรการช่วยเหลือหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะออกมาในช่วงไตรมาสที่ 4 อาจช่วยชะลอการถดถอยต่อเนื่องของคุณภาพสินเชื่อได้บ้าง แต่การฟื้นตัวน่าจะเห็นได้ชัดเจนในปี 2568 หนี้เสียที่ยังเป็นปัญหาจะทำให้จำนวนรถยึดและการขาดทุนจากการขายรถยึดยังอยู่ในระดับสูง โดยราคารถมือสองจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่สูงและแนวโน้ม NPL รวมถึงหนี้จัดชั้นพิเศษ (Special Mention) ที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลงในระยะสั้น นอกจากนี้ ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับลดลงจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาประมูลของรถมือสอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทใน 12 เดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกรุงไทย Krungthai COMPASS ก็ได้ประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไทย ว่ายอดขายปี 67-68 น่าจะอยู่ที่ 6-6.1 แสนคัน ลดลงจากปี 66 ถึง 25% ขณะที่ยอดผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ 1.62-1.66 ล้านคัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ถึง 10% โดยมีแรงกดดันจากกำลังซื้อที่แผ่วลง จากหนี้ครัวเรือนที่สูง
คุณคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือกรุงศรี ออโต้ ประเมินว่าภาพรวมตลาดของตลาดสินเชื่อซื้อรถยนต์ทั้งปี 2567 จะลดลงประมาณ 20% โดยถือเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดใกล้เคียงกับในช่วงที่มีสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดในประเทศไทย เพราะว่าปีนี้ตลาดรถยนต์ถูกผลกระทบสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูง รวมถึงเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 ยังคงมีทิศทางการชะลอตัว ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อีกทั้งผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย โดยข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีปรับลดประมาณการ GDP ของไทยในปี 2567 จากขยายตัวเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.7% ลงมาเหลือ 2.4% รวมไปถึงการที่สถาบันการเงินต่างๆ มีความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ภายใต้นโยบายหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของ ธปท. เพื่อต้องการจะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย
คุณคงสิน คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ธปท. จะมีการทยอยปรับผ่อนปรนเกณฑ์ Responsible Lending ในบางข้อให้ผ่อนปรนลง หลังมีการรับฟังข้อมูลหารือร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันให้ไม่มีความเข้มงวดมากเกินไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลดีให้ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เริ่มมีแนวโน้มทยอยดีขึ้นในปี 2568 และคาดว่าในปี 2567 จะเป็นจุดต่ำสุดของตลาดสินเชื่อและตลาดรถยนต์โดยรวม
จากการคาดการขอบรรดากูรูต่างๆแล้ว ทีนี้ก็ต้องมาดูที่บรรดาค่ายรถต่างๆที่ในปีนี้ ที่ยังมีงานอีเวนต์ใหญ่ส่งท้ายปี อย่างงานมหกรรมยานยนต์ ที่เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมยานยนต์ของทุกปี ซึ่งในงาน “Motor Expo 2024” ที่กำลังจัดขึ้นขณะนี้นั้น นับเป็นลานประลองสุดท้าย ที่ค่ายรถต่างๆจะต้องงัดไม้เด็ด หรือไม้ตายอาจจะเกือบสุดท้ายของบางค่ายในการดึงยอดขายให้ได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้
โดยงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” หรือ “Motor Expo 2024” ได้ขนทัพรถยนต์รุ่นล่าสุด 42 แบรนด์ จาก 9 ประเทศ จักรยานยนต์ 22 แบรนด์ จาก 7 ประเทศ พร้อมโปรโมชันอีกเพียบตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม 2567นี้ คุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” กล่าวว่าปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “จิตวิญญาณแห่งนวัตกรรม…ยานยนต์ล้ำอนาคต-Innovative Spirit…Futuristic Vehicles” ซึ่งไฮไลท์ของงานเป็นรถต้นแบบ 3 คัน ได้แก่
Changan P201 (ฉางอัน พี 201) รถกระบะที่มาพร้อมเทคโนโลยี Range-Extended Electric Vehicle (REEV) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องยนต์สันดาปพร้อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 1,000 กม. ตามมาตรฐาน CLTC
Chery Fengyun E05 (เชอรี เฟิงหยุน อี 05) รถซีดานระดับไฮเอนด์ มาพร้อมระบบขับขี่อัจฉริยะระดับสูง มีให้เลือก 2 รุ่น ได้แก่ ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วน และ Extended-Range
iCar X25 (ไอคาร์ เอกซ์ 25) รถเอสยูวีดีไซจ์นล้ำอนาคต ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า BEV และ REEV มีล้อขนาดใหญ่อยู่ทั้ง 4 มุม ติดตั้งแผ่นป้องกันใต้กันชนหน้า และมีระยะห่างจากพื้นสูงเพื่อการใช้งานสมบุกสมบัน เสา A ลาดเอียงมาก ส่วนเสา B ซ่อนได้อย่างลงตัว มือจับประตูซ่อนแบบรถไฟฟ้า ประตูท้ายมียางอะไหล่ 21 นิ้ว
โดยรถที่เปิดตัวครั้งแรกในโลก ได้แก่ Geely EX5 (จีลี อีเอกซ์ 5) เอสยูวีไฟฟ้า 100 % รุ่นล่าสุด พวงมาลัยขวา รวมถึงมีรถที่เปิดตัวครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ Lotus Chapman Bespoke (โลทัส แชพแมน บีสโปค) และรถที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ Aion V (ไอออน วี),Nissan Serena (นิสสัน เซเรนา),Xpeng X9 Ultra Smart Coupe MPV (เสี่ยวเผิง เอกซ์ 9 อุลทรา สมาร์ท คูเป เอมพีวี)
ทั้งนี้คาดว่างานมหกรรมยานยนต์นี้ จะช่วยผลักดันเม็ดเงินสะพัดกว่า 6 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นตลาด และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ได้ไม่มากก็น้อย.///