จะดีไหม? รัฐหาช่องรับสังคมสูงวัย แต่ไร้เงินเก็บ จับทางคนไทยชอบเสี่ยงโชค ผุด ‘หวยเกษียณ’ ดึงประชาชนเข้าระบบการออม ได้สะสมเงินไปพร้อมกับลุ้นเงินล้าน

524
0
Share:

จะดีไหม? รัฐหาช่องรับสังคมสูงวัย แต่ไร้เงินเก็บ จับทางคนไทยชอบเสี่ยงโชค ผุด ‘หวยเกษียณ’

“สังคมสูงวัย” เป็นเรื่องที่บ้านเราพูดถึงกันมาหลายสิบปีแล้ว และตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยยังบอกอีกว่าในปีนี้ 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ หรือช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66 ล้านคน ซึ่งนั่นแสดงว่าบ้านเราจะคับคั่งไปด้วยชาววัยเกษียณ

แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ คน(อาจจะ)ส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเก็บหอมรอมริบได้ทันเมื่อถึงเวลาต้องเกษียณอายุทำงาน ไม่มีเงินเก็บพอที่จะใช้ชีวิตในยามบั้นปลายชีวิต ลำพังเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐมอบให้คนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน ก็อาจจะไม่เพียงพอ อีกทั้งงบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 86,000 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณ 90,000 ล้านบาท

ดังนั้นคลังจึงปิ๊งไอเดียนโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “หวยเกษียณ” ขึ้นมา หวังว่าจะจูงใจให้ประชาชนหันมาเก็บออมมากขึ้น โดยนโยบายนี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายว่าเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมลักษณะความชื่นชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการออม โดยเบื้องต้นจะออกรางวัลทุกสัปดาห์ ส่วนสลากที่ไม่ถูกรางวัลจะเก็บสะสมเป็นเงินออมให้กับคนที่ซื้อ ซึ่งจะไม่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้จนกว่าจะอายุครบ 60 ปี

โดยสลากเกษียณนี้จะออกโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นรูปแบบสลากชุดในรูปแบบดิจิทัล โดยที่ไม่ต้องเลือกเลข ซึ่งจะมีการจำหน่ายในราคาใบละ 50 บาท โดยกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน และเปิดให้ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน กอช. ซึ่งในระยะแรกจะขายให้กับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก 20 ล้านคน ประกอบด้วย 1.สมาชิก กอช. 2.ผู้ประกันตนมาตรา 40 และ 3.แรงงานนอกระบบ โดยอาจะมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมภายหลัง

กอช. จะทำงานร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อออกแบบระบบการออกสลาก การจับรางวัล ซึ่งความพิเศษของ “หวยเกษียณ” ก็คือ สมาชิก กอช. จะสามารถซื้อสลากได้ทุกวัน และออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท และรางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท รวม 10,000 รางวัล โดยผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลที่เบิกเงินสดมาใช้ได้ทันทีคล้ายๆ กับล็อตเตอรี่ในต่างประเทศ

ส่วนเงินค่าซื้อสลากจะถูกเก็บไว้เป็นเงินออมในบัญชี กอช. ของผู้ซื้อสลาก แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม โดย กอช. จะบริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากทั้งชีวิตออกมาได้ ซึ่งจะต่างจากการที่เราจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคม ที่มีแต่จ่ายกับจ่าย

สำหรับเงินรางวัลจะเป็นการใช้เงินงบประมาณสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท หรือปีละ 780 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่ามีจำนวนน้อยกว่างบประมาณ สำหรับนโยบายการให้เบี้ยคนชรามาก ซึ่งกระทรวงการคลังหวังว่านโยบายนี้จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล โฆษณาดอกเบี้ย พ่วงสิทธิประโยชน์ใดๆ ก็แล้ว ก็ยังไม่มีแรงจูงใจที่เพียงพอ ต้องอาศัยกลไกการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ ได้ลุ้น ได้เสี่ยงโชคไปในตัว แต่ในรูปแบบหวยบนดิน หรือสลากที่ถูกกฎหมาย ยิ่งซื้อมากยิ่งลุ้นมาก และมีเงินออมมาก

นายเผ่าภูมิบอกว่านโยบายนี้ยังอยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ราว 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้แน่นอน

แต่หากย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลทักษิน ชินวัตร ก็เคยมีนโยบาย “หวยบนดิน” ที่คอนเซ็ปต์อาจจะไม่คล้ายกันมาก แต่ก็เป็นการนำเอาหวยที่คนไทยชื่นชอบในการเสี่ยงโชค มาทำเป็นนโยบายและที่สำคัญซื้อได้แบบถูกกฎหมาย ซึ่งในสมัยนั้น เมื่อปี 2546 อดีตนายกฯ ทักษิน ในนามรัฐบาลขณะนั้น ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถซื้อเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวได้ในราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท เพื่อใช้แก้ปัญหาหวยใต้ดิน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในทุกพื้นที่ นั่นก็เพราะราคาลอตเตอรี่ 80 บาท ยังมีปัญหาการขายเกินราคา ปราบไม่จบไม่สิ้น และหนทางของการรวยทางลัด หนีไม่พ้นการพึ่ง “หวยใต้ดิน” ที่ซื้อได้ตั้งแต่หลักหน่วย จนถึงหลักสิบ หลักร้อย แต่ผลตอบแทนจูงใจนัก ถึงจะผิดกฎหมายแต่ก็เป็นที่พึ่งให้กับบรรดาผู้ที่ต้องการเสี่ยงโชคแทบจะทุกกลุ่มเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวเม็ดเงินที่อยู่ในวงการหวยใต้ดินมีจำนวนมหาศาลการนำ “หวยใต้ดิน” ขึ้นมาไว้บนดิน โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้ามือเอง กำหนดรางวัลตายตัว คือเลขท้าย 2 ตัว บาทละ 65 บาท เลขท้าย 3 ตัว บาทละ 500 บาท และ 3 ตัวโต๊ด บาทละ 100 บาท จ่ายรางวัลเหมือนกับหวยใต้ดิน อีกทั้งยังมีรางวัลแจ็กพอตเป็นแรงจูงใจขั้นต่ำ 20 ล้านบาท ในขณะนั้นรัฐบาลตั้งเป้าหมายของการจำหน่าย คือนำไปพัฒนาสนับสนุนการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ โดยเฉพาะในโครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ (ODOS) ด้วยการส่งนักเรียนต่างจังหวัดไปเรียนต่างประเทศ

แต่ถึงอย่างนั้น “หวยบนดิน” ก็ต้องถูกปิดตำนานลง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ต้องกลายเป็นหวยงวดสุดท้าย หลังจากรัฐบาลทักษิณถูกทำรัฐประหาร ซึ่งในขณะนั้น นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยให้เหตุผลว่า “หวยบนดิน” ขัดต่อ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มีการทุจริต จนนำไปสู่การยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และต่อมา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ศาลได้มีคำพิพากษาว่ารัฐบาลทักษิณ และอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน ดำเนินโครงการ หวยบนดิน ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2546–16 กันยายน 2549 รวม 80 งวด โดยมิชอบ เร่งรัดดำเนินการ เป็นการพนันมอมเมาประชาชน จึงตัดสินให้นายทักษิณจำคุก 2 ปี แบบไม่รอลงอาญา

ล่าสุด รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรี ภายใต้ร่มเงาของพรรคเพื่อไทย ก็ได้นำแนวคิดและความชื่นชอบการเสี่ยงโชคของคนไทยมาเป็นแนวทางการกำหนดนโยบาย “หวยเกษียณ” เพื่อกระตุ้นการออมและลุ้นโชคของประชาชนอีกครั้ง

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่านโยบายนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนไทยในการดึงให้คนไทยออมเงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินที่ต้องซื้อหวยใต้ดินกลายมาเป็นเงินออม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีปัญหาผู้เกษียณมีเงินไม่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยผลการศึกษาพบว่าจำเป็นต้องมีประมาณ 3–4 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามทีดีอาร์ไอ อยากให้รัฐบาลงพิจารณาจุดที่เหมาะสมว่าจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไร เพราะมีผลผูกพันต่องบประมาณ รวมถึงการบริหารเงินของผู้ซื้อหวยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐบริหารกองทุนในลักษณะนี้หลายกองทุน สามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ รวมทั้งเงื่อนไขการออม โดยจะต้องพิจารณาว่าจะมีผลต่อการตั้งงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุอย่างไร ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งงบประมาณเกือบปีละ 1 แสนล้านบาท และในอนาคตอาจจะต้องตั้งงบประมาณปีละ 4–5 แสนล้านบาท

อีกทั้งโครงการที่ให้ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังเป็นภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องระยะยาว ประกอบกับที่ผ่านมาภาครัฐก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิด ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 41.1% ปรับขึ้นมาเป็น 61.8% ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งส่งผลให้สถานะทางการคลังตอนนี้ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณด้านสังคมในอนาคต

เอาเป็นว่าตอนนี้ “หวยเกษียณ” ที่รัฐมนตรีช่วยคลัง เผ่าภูมิ แง้มออกมาก็ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากนัก แต่ก็เชื่อว่าหลายคนคงจะตื่นเต้นกับ “หวยบนดิน ฉบับสะสมยอด” กันพอสมควร เพราะถ้านโยบายนี้เกิดขึ้น ทำได้จริง ก็ถือเป็นการงัดข้อกับหวยใต้ดินได้ไม่มากก็น้อย…

BTimes