ลุ้นหุ้นไทยปี 67 หลุดแชมป์ยอดแย่ผลตอบแทนต่ำเกือบที่สุดในโลก หวังหนีหมีตะปบ ผงาดฟื้น นักลงทุนเบนเข็มกลับมาถล่มซื้อ ปั้นดัชนีได้เกิน 1,550–1,600 จุด ดีไม่ดีทั้งปีอาจทะลุ 1,750 จุด
ในปี 2566 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยทำเอานักลงทุนผิดหวังกันไปตามๆ กัน ด้วยสถิติตลาดหุ้นยอดแย่ ผลตอบแทนติดลบ ต่ำเกือบที่สุดในโลก แถมนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักต่างก็มองว่าหุ้นไทยปีที่ผ่านมาเป็นช่วงหมีจำศีล ประมาณว่าปลุกไม่ตื่น เข็นไม่ขึ้น มีแต่ซึมกับร่วงเท่านั้น
หุ้นไทยในปีที่ผ่านมาติดลบไปถึง 15.99% (ณ สิ้นวัน 27 ธ.ค. 66) จากต้นปีเดือน ม.ค. ดัชนี SET วิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปีที่ 1,691.41 จุด แต่ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังจากนั้น กระทั่งทำจุดต่ำสุดที่ 1,357.97 จุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิหุ้นไทยสูงเป็นประวัติการณ์ไปเกือบ 2 แสนล้านบาท
คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ตลาดหุ้นไทยปี 2566 เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย SET ที่ให้ผลตอบแทน –17% ต่ำเกือบที่สุดในโลก อยู่อันดับ 68 จากทั้งหมด 69 ตลาดหุ้นหลัก และมี 14 ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้
ที่น่าผิดหวังยิ่งขึ้นคือนักลงทุนเริ่มต้นปีด้วยความคาดหวังสูง เพราะมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งการท่องเที่ยว การเปิดประเทศของจีน และโดยเฉพาะการเลือกตั้ง แต่อย่างที่ทราบกัน แม้ท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คิด และเราใช้เวลาถึง 4 เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก อีกอย่างคือตลาดหุ้นไทยยังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่น จากกรณีหุ้นฉาว MORE หุ้น STARK รวมทั้งข่าวลือเรื่องการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นในมือ และการใช้โปรแกรมเทรดแบบไม่เป็นธรรม ซึ่ง 2 กรณีหลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำลักษณะดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้
คุณไพบูลย์ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 2567 แต่ขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไข คือรัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3–4% ในปีหน้า และในปีถัดๆ ไป แต่ก็ยังมีตัวแปรที่สำคัญทั้งเศรษฐกิจโลกและจีน ที่ยากกว่าคือการรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ (New Investment Cycle) เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ รวมทั้งเริ่มจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4% ในระยะยาว พร้อมๆ กับสร้างจุดขายใหม่ (Catalyst) ให้กับตลาดหุ้นไทย
เงื่อนไขที่สอง รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเงื่อนไขที่สาม ภาครัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพคล่องลดลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งถ้าทำได้ทั้ง 3 เงื่อนไขนี้ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Outperform ตลาดหุ้นโลกในปีหน้า ที่น่าสนใจคือ ตลาดหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกัน แม้แต่ครั้งเดียวในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
ด้านคุณอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ประมวลสถานการณ์หุ้นไทย ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมองภาพรวมการลงทุนหุ้นไทยในปี 2567 ดีขึ้น โดยตั้งเป้า SET Index สิ้นปี 2567 ไว้ที่ 1,550 จุด จาก 5 ปัจจัยสนับสนุน คือ
1. แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโต 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่คาดโต 2.6% องค์ประกอบหลักคาดจะกลับมาช่วยหนุนกิจกรรมเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งการส่งออกที่คาดกลับมาขยายตัว การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐ–ภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น
2. คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต อิงจากคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) กำไรปี 2567 คาดอยู่ที่ 96.7 บาทต่อหุ้น เติบโต 16% จากปี 2566 ที่คาดอยู่ที่ 83.2 บาทต่อหุ้น เติบโตดีกว่า EPS Growth ของหุ้นโลกที่เติบโต 8%
3. วัฎจักรดอกขาขึ้นสิ้นสุดแล้ว จะเริ่มลดลงในปีนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้หรือไม่ บล.ทิสโก้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ จะเป็นบวกต่อการประเมินมูลค่าหุ้น และราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม
4. ระดับประเมินมูลค่าน่าสนใจ ในแง่ค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Fwd. PER) ปี 2567 ของดัชนีหุ้นไทย ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 14.5 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ประมาณ 17 เท่า หรืออยู่ที่ –1SD และในแง่ของ อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) นอกจากจะลดลงมาแตะระดับ –1SD ของค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว ระดับ PBV ที่ 1.3–1.4 เท่ายังมีนัยสำคัญ เพราะเป็นเส้นแนวโน้ม PBV ระยะยาวที่เคยผ่านวิกฤตมาแล้วถึง 3 ครั้ง (วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540, วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 และวิกฤติ COVID–19)
5. สถิติหุ้นไทยไม่เคยปรับตัวลง 2 ปีซ้อน จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมาดัชนีหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกันเลย
แต่ถึงแม้ บล.ทิสโก้มองภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2567 ดีขึ้น นักลงทุนยังต้องระมัดระวังความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากความล่าช้างบประมาณปี 2567 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศช่วง 3–4 เดือนแรกของปีนี้ยังขาดแรงส่งที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังห่วงว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเกิดการปรับฐานหลังจากที่ขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ในปีที่แล้ว โดยตลาดอาจคาดหวังไว้สูงเกินไปเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในการประชุมเดือน มีนาคมและยังคาดหวังว่าจะลดลงมากถึง 6 ครั้งในปี 2567 รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เปราะบาง
ขณะที่นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2567 ยังคงมีความผันผวน แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปีนี้ เนื่องจากระดับของดัชนีตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (undervalue) โดยคาดว่า ตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก และ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 1,750 จุด
โดยมองว่าปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทย มาจากปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม เนื่องจากโดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3–4% สูงกว่าปี 2566 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ในขณะเดียวกัน คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวได้ 10–15% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2566 ที่ชะลอตัว 10%
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าน่าจะเห็นการพื้นตัวตลอดทั้งปี ตั้งเป้าหมายดัชนีระดับ 1,600 จุด
โดยคาดว่างบประมาณของรัฐบาลน่าจะผ่านในช่วงต้นปี ทำให้รัฐบาลจะเริ่มลงทุนในโครงการต่างๆ ทำให้การลงทุนของรัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% จากปี 2566 ที่คาดไว้ 2.7% หากโครงการ Digital Wallet เกิดขึ้น แต่ถ้าโครงการนี้ไม่เกิดเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโต 3.2% นักท่องเที่ยวปีหน้าอาจกลับมาอยู่ระดับ 35 ล้านคนต่อปี
ด้านกำไรจากการดำเนินงานของ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) อาจเติบโตประมาณ 15% ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเติบโตกำไรของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยในแง่ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ค่า P/E คาดว่าจะซื้อขายระดับ 16.50 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวของไทย (ปัจจุบันคาดการณ์ค่า P/E ปี 2567 เท่ากับ 14 เท่า) เทียบกับปี 2566 ที่อยู่ 16.40 เท่า
ถึงแม้ว่าในปี 66 จะพากันผิดหวังอย่างแรงกับตลาดหุ้นไทย แต่ในปีนี้ก็เชื่อว่าหลายคนจะยังเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง ว่าหุ้นไทยจะกลับมาฟื้น หลบพ้นอุ้งเท้าหมี มีวันที่อากาศดีๆ ส่งความสดใสให้หุ้นไทยได้สักที…