รัฐออกมาตรการเร่งเครื่องตลาดหุ้นไทย ปล่อยกองทุน Thai ESG ต่างชาติยังเมิน เททิ้งหุ้นไทยรัวๆ ตั้งแต่ต้นปีไทยโดนฝรั่งแห่ขายเกินกว่า 117,000 ล้านบาทแล้ว เข็นต่อยังไงดีไม่ให้หลุด 1,300 จุด
สถานะตลาดหุ้นไทยในแต่ละวันดูเหมือนจะอ่อนแรงซะเหลือเกิน เพราะหากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ หุ้นไทยพากันถอยหลังดิ่งลงเหวมาอย่างต่อเนื่อง คุ้มดีคุ้มร้าย ผันผวนยิ่งกว่ารถไฟเหาะ ทำเอานักลงทุนกุมขมับกันเป็นแถวๆ
และล่าสุด วันศุกร์สิ้นเดือนที่ผ่านมา (28 มิถุนายน 2567) ดัชนีหุ้น SET Index ปิดที่ระดับ 1,300.96 จุด –8.50 จุด หรือ –0.65% มูลค่าการซื้อขาย 54,526 ล้านบาท โดยทำจุดต่ำสุด 1,286.67 จุด และทำจุดสูงสุด 1,311.73 จุด จึงทำให้ดัชนีหุ้นไทยในครึ่งแรกของปีนี้ หรือนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ 28 มิถุนายน 2567 ทรุดต่ำลง –7.51% ขณะที่ในรอบ 3 เดือนผ่านมา ตกต่ำลง –5.58% และในรอบ 12 เดือนผ่านมา ดำดิ่งกว่า –13.44%
โดยเมื่อวันศุกร์ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย –2,620.43 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมากถึง –34,871.88 ล้านบาท สอดรับกับตั้งแต่ต้นปีนี้มาถึงวันนี้ 28 มิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมากถึง –117,031.49 ล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยทะลุหลัก 100,000 ล้านบาทเป็นวันที่ 10 ติดต่อกัน
ถ้านับย้อนถอยหลังไป 28 วันทำการ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิหุ้นไทยติดต่อกัน หรือตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคมถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 (ในวันทำการ) มูลค่า –51,635.66 ล้านบาท ส่งผลทำสถิตินักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยยาวนานที่สุดในรอบ 4 เดือน 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง หรือนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 และที่สำคัญ ดัชนีหุ้นปิดในวันนี้ 28 มิถุนายน 2567 นั้น ยังดำดิ่งมากถึง –521.70 จุด หรือดิ่งลงเหวถึง –28.62% เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,822.66 จุด ส่งผลตลาดหุ้นไทยเข้าภาวะหมี หรือ Bear Market มาอย่างยาวนาน
<หุ้นไทยดีใจได้ไม่นาน ก็หล่นตุ๊บลงมาอีก>
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ระบุว่าหลังจากที่รัฐบาล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ ก.ล.ต. ได้ร่วมกันประมาตรการพยุงหุ้นไทยด้วยการออกกองทุนรวม Thai ESG ก็ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงแรก ขานรับปัจจัยบวกจากมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ก่อนจะย่อตัวลงในช่วงท้ายสัปดาห์
จากการที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนเชิงจิตวิทยาด้วยความหวังเชิงบวกต่อมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน อาทิ การปรับเกณฑ์กองทุน TESG และมาตรการการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งนักลงทุนยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลให้มีแรงซื้อหุ้นทุกอุตสาหกรรม นำโดยกลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์ และพลังงาน
แต่แล้วหุ้นไทยย่อตัวลงในเวลาต่อมา หลังตอบรับประเด็นบวกข้างต้นไปพอสมควร โดยนักลงทุนกลับมาระมัดระวังในการลงทุนระหว่างรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE ของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในช่วงท้ายสัปดาห์ รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ นอกจากนี้แรงขายหุ้นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าและหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานจากความกังวลเรื่องแนวโน้มผลประกอบการมีส่วนกดดันหุ้นไทยในช่วงท้ายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน อนึ่งนักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ติดต่อกัน
ในช่วงสัปดาห์ถัดไป (1–5 กรกฎาคม) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,310 และ 1,325 จุด โดยยังต้องจับตาตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมิถุนายน บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมิถุนายนของยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิถุนายน (เบื้องต้น) ของยูโรโซน
<โบรกฯ มองหุ้นไทยครึ่งหลังปี 2567 ยังไม่สดใส นักลงทุนขาดความมั่นใจ จากสารพัดปัจจัยรุมเร้ากดดัน>
คุณชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ประเมินตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 ว่าอาจไม่สดใสมากนัก หลังนักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุน จากหลากหลายปัจจัยความเสี่ยง เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2567 ที่ยังคงดูฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับการผลักดันมาตรการใหม่จากรัฐยังคงเลื่อนออกไป และมีโอกาสจะตกหลุมอากาศ
ยิ่งในช่วงไตรมาส 3 ที่เป็นโลว์ซีซันหน้าฝนจะเป็นช่วงที่กำไร บจ. เข้าสู่รอบจุดต่ำสุด แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ตัวเลข GDP จะเติบโต 1.5% จากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกที่เริ่มดีขึ้นก็ตาม แต่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ของภาครัฐเพื่อการลงทุนเบิกจ่ายเพียง 12% ของงบประมาณทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่มีสถิติการเบิกจ่ายเฉลี่ยประมาณ 30–40% ขณะเดียวกันภาคการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดีนัก การบริโภคภายในประเทศเริ่มอ่อนแอลง สังเกตจากยอดขายสินค้าคงทนจำพวกรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ อสังหาฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ลดลงติดต่อกันหลายเดือน ฉะนั้นความเสี่ยงการปรับลดเป้าหมายตัวเลข GDP ปี 2567 ยังคงอยู่ รวมถึงมาตรการคุมเข้ม Short sell เพิ่มเติมของตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจยังไม่ได้ประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
<เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วง Cool Down เพราะนโยบายการเงินที่ตึงตัว>
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้ เริ่มเข้าสู่เส้นทาง Cool Down อีกครั้ง จากนโยบายการเงินที่ตึงตัว ประเดประดังกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงแม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) จะขยายเวลาลดอัตราการผลิตน้ำมันออกไปได้ สะท้อนภาพการบริโภคน้ำมันรวมของโลกที่ยังไม่สดใสอาจส่งผลกระทบต่อกำไรรวมของตลาดหุ้นไทยเพราะตลาดหุ้นไทยมีหุ้นกลุ่มเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ปิโตรเคมี พลังงาน สัดส่วนสูงถึง 25% รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงในด้านการบริโภคในประเทศผ่านการใช้บัตรเครดิตและยอดการผิดนัดชำระหนี้บัตร
ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง มองว่าได้ผ่านจุดพีคมาแล้ว และยังคงอยู่ในทิศทางขาลง คาดว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเข้าสู่การปรับฐานรอบใหม่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน
<คลังหวังกองทุน Thai ESG จะเป็นระเบิดกระตุ้นตลาดหุ้นไทยลูกใหญ่>
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับตลท. และ ก.ล.ต. ได้ร่วมกันประกาศแนวทางของ ‘มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน’ ประเด็นหลักคือการพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่มีต่อตลาดทุนไทย หลังจากที่ดัชนีของตลาดหุ้นไทย (SET) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 จากราว 1,700 จุด มาอยู่ที่ประมาณ 1,200 จุด ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเฉียด 3 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา
<ขุนคลังเชื่อหุ้นไทยใกล้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว>
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลัง พิชัย เชื่อว่าหุ้นไทยน่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และการขายของต่างชาติน่าจะใกล้จบลง สังเกตจากการขายของนักลงทุนต่างประเทศเริ่มน้อยลง แม้ว่าดัชนีจะลงเยอะ เพราะมันถึงจุดที่เรียกว่าไม่ทราบว่าจะขายอะไรได้อีกแล้ว ขณะที่กองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะเริ่มกลับมาสนใจหุ้นไทยอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ซึ่งมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการออมการลงทุน
นอกจากนี้ยังจะมีการปรับเกณฑ์กองทุน Thai ESG ซึ่งเดิมทีผู้ลงทุนสามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท จะเพิ่มเป็นไม่เกิน 3 แสนบาท พร้อมกับลดระยะเวลาถือครองจากเดิม 8 ปี มาเหลือ 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ และจะมีการปรับเพิ่มลิสต์ของหุ้นทั้งใน SET และ mai ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และด้านบรรษัทภิบาล (G) ทำให้หุ้นที่จะเป็นเป้าหมายของการลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 300 บริษัท ซึ่งในการเสนอปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG น่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 2 สัปดาห์ และน่าจะเริ่มเปิดขายได้ในเดือนกรกฎาคม โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
<ฟื้นกองทุนวายุภักษ์ ช่วยดันตลาดทุนอีกแรง>
รัฐมนตรีคลังยังเผยอีกว่ายังได้มีการศึกษาที่จะจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3 ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ในอดีตเคยมีกองทุนวายุภักษ์ 1 และ 2 มาก่อนแล้ว โดยแนวความคิดเปิดขายหน่วยลงทุน ‘กองทุนรวมวายุภักษ์’ ครั้งใหม่นี้ ก็เพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วไปสร้างเงินออมเพิ่มให้กับประเทศ หลังจากการเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนวายุภักษ์ สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จอย่างมากจน ‘ไม่พอจำหน่าย’ ซึ่งความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามจริงเป็นเวลา 10 ปี โดยมีขั้นต่ำ (Floor) และขั้นสูง (Ceiling) ต่อปีแล้วแต่กำหนด ตัวอย่างเช่น ขั้นต่ำ 3% และขั้นสูง 8% ต่อปี ตลอดจนจะได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วย ข (กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น) ตามแนวชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Waterfall ขณะนี้กระทรวงกำลังศึกษาแนวคิดดังกล่าวอยู่ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 6–9 เดือนจะชัดเจนขึ้น
<ออกมาตรการเสริมป้องกันปั่นหุ้นกระทบนักลงทุน>
ที่ผ่านมาทั้ง 3 หน่วยงานยังพยายามยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เช่น การปรับเงื่อนไขการ Short Selling โดยกำหนดให้หุ้นที่จะถูก Short Selling ได้ต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท และมีอัตราการหมุนเวียนของหุ้นเฉลี่ย 12 เดือนไม่ต่ำกว่า 2% ทำให้หุ้นที่จะถูก Short ได้มีจำนวนน้อยลง และการ Short Selling จะทำได้ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) แทนที่เกณฑ์ปัจจุบันที่ Short Selling ได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero–Plus Tick) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งการพยายามควบคุมในด้านอื่นๆ เช่น การปรับเกณฑ์พิจารณาการเข้าจดทะเบียนให้เข้มข้นมากขึ้น หรือการเตือนผู้ลงทุนเกี่ยวกับหุ้นที่อาจปฏิบัติไม่ตามเกณฑ์หรือมีข้อน่าสังเกต และการพิจารณาถอดถอนหุ้นที่ไม่มีธุรกิจติดต่อกัน 3 ปีด้วย
<ครั้งหลังปีนี้นักลงทุนต้องเตรียมพร้อม>
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าควรจัดพอร์ตแบบเน้นกระจายน้ำหนักการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน โดยผู้ที่รับความเสี่ยงได้ให้แบ่งน้ำหนักการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม ที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตดี
แต่หากมองในแง่ Valuation ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ก็ยังน่าสนใจ หลังรัฐบาลอัดฉีดเงินผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และกำไรเริ่มฟื้นตัว โดยนักลงทุนสามารถลงทุนต่างประเทศได้ง่ายๆ ผ่าน DR01 ส่วนผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มากให้พักเงินในหุ้นกู้เอกชนเรตติ้งดี แต่ถ้าต้องการเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตแนะให้ผสมตราสารหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเข้ามาด้วยก็ได้ โดยควรปรึกษากับผู้แนะนำการลงทุนก่อนลงทุน
ถึงอย่างไรแล้ว BTimes เรายังคงเน้นย้ำเสมอว่า *การลงทุนในทุกสินทรัพย์มีความเสี่ยงทั้งนั้น* ก่อนที่จะตัดสินใจเอาเงินไปลงทุนจริงจัง ก็ควรจะศึกษาข้อมูลให้มากๆ และชั่งน้ำหนักว่าสินทรัพย์ใดเหมาะกับตัวเองที่สุด ถูกจริตกับเราที่สุด ก่อนที่จะควักเงินในกระเป๋าออกมาได้แบบสบายใจ…