สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. คุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้นำทีม ครม. แถลงผลงานในรอบ 3 เดือน หลังจากที่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้จัดงานแถลงถ่ายทอดผ่านทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง”
ในช่วงของการแถลงข่าวนายกฯ รัฐมนตรีแพทองธาร ระบุว่าผลงานของรัฐบาลแพทองธาร เป็นผลงานที่ต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งรัฐบาลแพทองธารได้ทำงานผ่านความร่วมมือของคณะรัฐมนตรี และข้าราชการ เพื่อพี่น้องประชาชนมาแล้ว 90 วันเต็มทำให้วันนี้ ‘ทุกคนคือทีมเดียวกัน’ และจะร่วมกันเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ วางรากฐานของประเทศไทยในทศวรรษหน้า ให้คนไทยมีกิน–มีใช้–มีเกียรติ–มีศักดิ์ศรี ประเทศไทยในปี 2568 จะเป็นปีแห่งโอกาส รัฐบาลจะสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่เป็นจริง
“90 วันที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาของการปรับตัว ปรับการทำาน ทั้งตัวเอง คณะรัฐญมนตรี และข้าราชการ ได้เริ่มหาแนวทางว่าการทำงานแบบไหนที่สามารถอำนวยควาสะดวกตอบโจทย์ประชาชนได้จริง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งแต่รับตำแน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งคำถามว่าอยากให้อะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย และคิดว่าอยากสร้างนโยบายดีๆ ให้กับประเทศไทย โดยไม่ว่านายกฯจะเป็นใคร รัฐบาลจะเป็นชุดไหน แต่นโยบายดีๆ ยังต้องอยู่กับประชาชน” นายกฯ แพทองธารกล่าว
ในหลักใหญ่ใจความที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือนโยบายที่เตรียมขับเคลื่อนในระยะต่อไปของรัฐบาล ซึ่งมีด้วยกัน 5 นโยบายเรือธง ที่รัฐบาลชูเป็นไฮไลท์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาปากท้อง สังคมให้กับประชาชนที่พร้อมจะเกิดขึ้นในปี 2568 ได้แก่ โครงการ SML, หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, ดิจิทัลวอลเล็ต, การแก้หนี้ครัวเรือน และบ้านเพื่อคนไทย
1. การแก้หนี้ครัวเรือน ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
รัฐบาลได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ของไทย มุ่งแก้หนี้ครัวเรือน ทั้งรถและบ้าน ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ลง 0.23% จำนวนเงิน 39,000 ล้านบาทต่อปี และธนาคารพาณิชย์สมทบเพิ่มอีก 39,000 ล้านบาทต่อปี รวมเป็น 78,000 ล้านบาทต่อปี กองทุนนี้จะช่วยประชาชน โดยพักการจ่ายดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และเงินทุกบาทที่จ่ายจะเป็นการลดเงินต้น เมื่อประชาชนกลับมาจ่ายดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ก็จะถูกลง ขณะเดียวกันในกลุ่มหนี้ NPL ต่ำกว่า 5,000 บาท มีประมาณ 335,000 บัญชี รัฐบาลได้ประนีประนอมหนี้เหล่านี้เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน สำหรับโครงการนี้มอบหมายให้รองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร ดำเนินการ
2. โครงการบ้านเพื่อคนไทย
โดยมีเป้าหมายให้คนไทยในเมืองที่ไม่สามารถหาบ้านดีๆ ได้ เด็กจบใหม่ที่คิดอยากจะเก็บเงินไปซื้อบ้าน ก็ไม่สามารถซื้อได้ รัฐบาลจึงจะดำเนินโครงการโดยใช้พื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเป็นพื้นที่ที่มีทำเลดี เดินสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า ใกล้ตัวเมือง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มจากพื้นที่การรถไฟฯ ในกรุงเทพเป็นหลักก่อน เป็นโครงการคอนโดมิเนียม พื้นที่เริ่มต้น 30 ตร.ม. ไม่มีการจ่ายเงินดาวน์ จ่ายเป็นระบบค่าเช่าเริ่มต้น 4,000 บาท หรือจะเรียกง่ายๆ ก็คือผ่อนจ่าย โดยผ่อนได้ยาว 30 ปี มีสิทธิ์อยู่ได้ถึง 99 ปี และเป็นคนที่ไม่เคยมีบ้าน ต้องเป็นบ้านเพื่อคนไทยเท่านั้น โดยปี 2568 จะเริ่มมีตัวอย่างโครงการให้ดู ซึ่งในโครงการนี้มอบหมายให้รองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำเนินการ
3. โครงการ SML Wmpowering Thais กระจายอำนาจสู่ชุมชน
นายกฯ บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการ SML ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จะกระจายโอกาสและเงินลงไปในทุกหมู่บ้าน โดยในแต่ละพื้นที่จะรู้ว่าปัญหาคืออะไร และอยากทำอาชีพอะไร โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 และจะเพิ่มเงินขึ้นทุกปีในปีถัดไป ซึ่งดูจากผลการดำเนินงาน นอกจากนี้จะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้กลุ่ม SMEs ซึ่งในประเทศไทยมี SMEs ถึง 75% นับเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
4. ODOS หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน
ในโครงการนี้ รัฐบาลจะจัดตั้งทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบุคลากรในรุ่นต่อไปของประเทศ เนื่องจากการที่มีทุนการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากต่อพื้นที่การสร้างคน การสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงต้องสร้างคนคุณภาพไว้เพื่ออนาคตข้างหน้า รัฐบาลจะมีการจัดทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่เรียนดีไปต่างประเทศ และกระจายไปทั่วโลก เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสและนำโอกาสดีๆ เหล่านี้มาสู่ประเทศไทย โดยโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนจะใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อส่งเด็กเก่งไปต่อปริญญาตรีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
รวมทั้งยังจะแยกย่อยไปถึงโครงการ 1 อำเภอ 1 Summer Camp ซึ่งโครงการนี้ รัฐบาลจะส่งเด็กไปซัมเมอร์แคมป์ต่างประเทศ โดยอยากให้เด็กไทยออกต่างประเทศ เรียนซัมเมอร์แคมป์ระยะเวลาสั้นๆ ช่วงปิดเทอม ทำให้ได้เห็นวัฒนธรรม การเติบโต วิถีชีวิตของต่างชาติ รวมถึงช่วยเปิดโลก อยากให้เด็กไทยจำนวนมากได้ออกนอกประเทศ ได้เรียนรู้ และแชร์ในครออบครัวและเพื่อนฟัง
ตลอดจนสร้างโรงเรียนต้นแบบประจำอำเภอ โดยเป็นการอัปเกรดโรงเรียนประจำอำเภอให้มีคุณภาพมากขึ้น เป็นโรงเรียนต้นแบบของแต่ละอำเภอ ทั้งโรงเรียนระบบ 2 ภาษา (bilingual) หรือการสอน AI โดยเป็นการซื้อลิขสิทธิ์หลักสูตรเพื่อให้การเรียนการสอนถูกต้อง แม่นยำ และเข้มข้นขึ้น ซึ่งนำงบประมาณมาจากสำนักงานสลากฯ โดยจะเริ่มดำเนินการให้ลงทะเบียนในปี 2568 สำหรับโครงการนี้มอบหมายให้ให้รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล, ประเสริฐ จันทรรวงทอง และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
5. โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นโครงการที่สานต่อจากปี 2567 นี้ โดยขณะนี้ดำเนินการแล้วในรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง สองสาย จุดมุ่งหมายของโครงการคือ อยากให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้า ต้องการลดรายจ่ายให้ประชาชน ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในปี 2568
นอกเหนือจาก 5 นโยบายข้างต้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหมื่นประชาชน ก็ยังเป็นนโยบายหลักสำคัญของรัฐบาลแพทองธาร และยังเฝ้ารอที่จะเห็นเงินเด้งเข้ามาในบัญชี แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ยังคง(ได้แต่) ย้้ำว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเชื่อมั่นอย่างมากว่าจะต้องเติมเงินเข้าระบบ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แย่หลายปีที่ผ่านมาเพราะเงินในระบบไม่พอ รัฐบาลจึงได้เติมเงินไปแล้ว 14 ล้านคน ทำให้จีดีพีไทยในไตรมาส 4 เกิน 3% ซึ่งเฟสต่อไปจะเติมเงินในกลุ่มผู้สูงอายุ 4 ล้านคน สามารถรับเงิน 10,000 บาทได้ไม่เกินตรุษจีนปี 2568 โดยเป็นในรูปแบบเงินสด และเฟสที่ 3 สำหรับบุคคลทั่วไป ที่รัฐบาลวางแผนจ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต ภายในปี 2568 ที่จะถึงนี้
นายกฯ แพทองธารยืนยันว่า “นโยบายที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 เราได้เห็นความหวังและการช่วยเหลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นรูปธรรมและจับต้องได้อย่างแน่นอน วันนี้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และประชาชน คือทีมเดียวกัน เราทุกคนต่างมีหัวใจเดียวกัน รักประเทศไทย เราจะลดอำนาจรัฐลงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น เชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันวางที่เข้มแข็งให้ลูกหลานของเรา สร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศไทย”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีการแถลงผลงาน 90 วันที่ผ่านมาจากการสานต่อการบริหารงานของอดีตนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา อาทิ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม–น้ำแล้ง, การแก้ปัญหาหมอกควัน ซึ่งสอดคล้องกับการออกกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด, การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย จากมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี และ AI รัฐบาลไทยตั้งเป้าจะเป็น AI Hub ของภูมิภาค เนื่องจากในปัจจุบัน มีบริษัทใหญ่มาลงทุนทำศูนย์ข้อมูล (Data center) เป็นเงินลงทุนมากกว่าล้านล้านบาทแล้ว
ยังรวมไปถึงการจะนำธุรกิจใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินและกำกับให้ถูกกฎหมาย คาดว่าธุรกิจใต้ดินมีมูลค่ากว่า 49% ของ GDP ไทย การแก้ปัญหานี้จะทำให้รัฐบาลปกป้องประชาชนได้และยังเป็นรายได้ของรัฐบาลด้วย
<ผลงาน 90 วันรัฐบาล เอกชนให้ผ่าน>
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล มองว่าในส่วนผลงาน 90 วันของรัฐบาล ส่วนตัวให้ผ่าน ซึ่งผลงานรัฐบาล ที่เป็นรูปธรรมเช่น การดึงการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่ม Data Center, Cloud Service, PCB, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ทั้งปีคาดจะดึงต่างชาติเที่ยวไทยได้ 36–37 ล้านค น และปีหน้าอาจจะแตะ 40 ล้านคน และการส่งออก และการผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้เอสเอ็มอี ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนแก้หนี้ในโครงการนี้จะได้รับอานิสงส์ และมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น
แต่ก็ยังมีส่วนที่ต้องรีบเร่งแก้ไขต่อเนื่อง คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยลดต้นทุนต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานต่างๆ
คุณเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่าในปีหน้าอยากให้นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการต่อมาตรการวีซ่าฟรีกับประเทศต่างๆ ออกไปอีก จากที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งอยากให้มีการประกาศแต่เนิ่นๆ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้วางแผนเดินทางล่วงหน้า รวมถึงอยากให้กระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้น
<ฝั่งวิชาการมองแก้หนี้ได้ช่วยเงินเดิน>
รศ. ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงหนึ่งในนโยบายเรือธงอย่าง “คุณสู้ เราช่วย” ว่าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่พักชำระดอกเบี้ย และลดเงินต้นในช่วง 3 ปี แต่ต้องไม่กู้หนี้เพิ่มภายใน 1 ปีนั้น จะเป็นประโยชน์กับทั้งลูกหนี้ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจไทย โดยในส่วนของลูกหนี้นั้จะประหยัดเงินที่จะนำไปใช้จ่ายดอกเบี้ย ทำให้มีเงินเหลือมาใช้จ่าย และเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้มากขึ้น
โดยมองว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งลูกหนี้ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจไทย โดยในส่วนของลูกหนี้นั้นจะประหยัดเงินที่จะ นำไปใช้จ่ายดอกเบี้ย ทำให้มีเงินเหลือมาใช้จ่าย และเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เงินต้นลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปี ส่งผลให้ยอดหนี้คงค้างในระบบลดลงได้อย่างน้อยราวๆ 100,000 ล้านบาท และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง และอาจมาอยู่ที่ 87% ได้ในปีหน้า จากปัจจุบันที่ 89% และที่สำคัญเมื่อแก้ปัญหาหนี้เสียได้แล้ว ประชาชนและเอสเอ็มอีก็จะไม่ติดเครดิตบูโร ทำให้ขอสินเชื่อใหม่ได้
“เมื่อผู้กู้คล่องตัวมากขึ้น ก็น่าจะประคองธุรกิจไม่ให้ล้ม รักษาการจ้างงานไว้ได้ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ ค่ายรถน่าจะดีขึ้น เพราะไม่ต้องยึดรถ และบ้านมาขายทอดตลาดในราคาต่ำ ไม่ทำให้ทรัพย์สินด้อยคุณภาพลงโดยไม่จำเป็น และเมื่อกลับมาปล่อยกู้ได้มากขึ้น ระบบเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และสุดท้ายเมื่อจีดีพีดีขึ้น หนี้คงค้างในระบบหรือหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลง”
หากหลายๆ มาตรการที่ช่วยบูสต์ น่าจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 80,000–100,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.5–0.7% และเมื่อรวมกับการแจกเงิน 10,000 ให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอีก 40,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรวม 40,000 ล้านบาท น่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราว 160,000–180,000 ล้านบาท และทำให้จีดีพีเพิ่มได้อีก 1.5% หากไม่มีความเสียหายจากสงครามการค้าที่คาดจะทำให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 160,000 ล้านบาท
นอกจากนโยบายเรือธงทั้ง 5 ดิจิทัลวอลเล็ต แล้วยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะลุ้นอยู่ ทั้งขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ มาตรการภาษีอื่นๆ ที่หวังจะให้เข้ามาเติมเชื้อเพลิงให้กับเศรษฐกิจ ตอนนี้เราคงทำได้เพียงจับตาการทำงานของรัฐบาลว่าเมื่ออยู่ครบเทอมจะเดินเครื่องไปได้แค่ไหน…