เป็นเหตุการณ์ระทึกครั้งใหญ่ในชีวิตของใครหลายคนเลยก็ว่าได้กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มี.ค. 2568) ประเทศไทยได้เผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่นับเป็นครั้งใหญ่ในรอบหลายปี เมื่อเวลาประมาณ 13:22 น. ซึ่งที่มาของแรงสั่นสะเทือนเกิดจากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 เมืองมัณฑะเลย์ ส่งแรงสะเทือน 24 จังหวัดของไทย
<แผ่นดินไหวเกิดที่เมียนมา กระทบมาถึงไทย>
คุณพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มี.ค. 2568) ว่าเกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 7.7 ขนาดความลึก 10 กม. ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จากนั้นอีกเพียง 12 นาที ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.4 ตามมา (ตามประกาศของ USGS)
สำหรับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนสะกายในเมืองมัณฑะเลย์ ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือของเมืองสะกายของเมียนมาเพียง 16 กม. และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,100 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยรับรู้ ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี บอกอีกว่าการขยับของรอยเลื่อนสะกาย ตามแนวระนาบเหลื่อมขวามีอัตราเคลื่อน 2 ซม.ต่อปี โดยรอยเลื่อนสะกาย ก่อหน้านี้เคยมีเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2473 ขนาด 7.3 และมีผู้เสียชีวิต 500 คน และความเสียหายจำนวนมาก
<24 จังหวัดได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างหนัก>
นอกจากชาวกรุงเทพและปริมาณฑลที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจนต้องอพยพผู้คนออกจากตึกสูงกันแล้ว กรมทรัพยากรธรณียังรายงานด้วยว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี ภาคตะวันออก ชลบุรี ส่วนภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ราชบุรี ลพบุรี นครนายก กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล รวมแล้ว 24 จังหวัด
แต่ที่เป็นเหตุระทึกขวัญมากที่สุดในครั้วนี้ก็คือการที่อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร พังถล่มลงมา โดยโครงการก่อสร้างอาคารนี้ ดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบก่อสร้าง 2,560 ล้านบาทเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 โดยผู้ที่ชนะการประกวดราคาการสร้างอาคารดังกล่าว คือกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 2,136 ล้านบาท
หลังจากนั้นศูนย์นเรนทร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รับแจ้งจากหัวหน้างานก่อสร้างอาคารดังกล่าวว่ามีคนงานก่อสร้างทั้งหมด 320 คน และเจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมด้วยสุนัขตำรวจเร่งค้นหาสัญญาณชีพของผู้รอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง
คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพื้นที่อาคารถล่มว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่เคยเกิดมาในรอบ 100 ปี สำหรับกรุงเทพมหานคร และตอนนี้กำลังกังวลว่าอาจมีเหตุแผ่นดินไหวตามมาอีก (อาฟเตอร์ช็อก) กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด
<ปิดทางลงทางด่วนดินแดง เพราะเศษวัสดุหล่นลงมาบนพื้นผิวจราจร>
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 14.36 น. มีรายงานการปิดการจารจรทางลงทางด่วนดินแดงทุกช่องทาง หลังเครนบนอาคารที่กำลังก่อสร้างล้มทับและมีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นกีดขวางการจราจรช่องทางลงทางด่วนดินแดงขาออก เพื่อเดินทางไปถนนวิภาวดีฯ ซึ่งแน่นอนว่า รถติด! และแน่นอนว่าติดทุกเส้นทาง เพราะทุกคนที่อพยพลงมาจากตึกต่างก็เดินทางกลับบ้านและที่พักกันทั้งนั้น
<นายกฯ ประชุมด่วน ประกาศให้ กทม. เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน>
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. คุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าวกรณีเหตุแผ่นดินไหวตรงจาก จ.ภูเก็ต ระหว่างว่าราชการ โดยได้ประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตประสบสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
“ได้รับรายงานเกี่ยวกับเหตุตึกถล่มในย่านจตุจักรในกรุงเทพฯ แล้ว และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ฉุกเฉินและได้แจ้งทั่วประเทศให้ทำเสมือนว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด เพื่อให้เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนทำได้ทันที” นายกฯ กล่าว
<กรมอุตุฯ ชี้แผ่นดินไหว เตือนภัยล่วงหน้าไม่ได้>
กรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายว่าภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้อง จากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากล ได้แก่ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล เมื่อตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนได้ทันที
สำหรับประเทศไทยพบว่ามีโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เพื่อป้องกัน และบรรเทาภัยแผ่นดินไหว คือการติดตามข่าวสารด้านภัยธรรมชาติอยู่เสมอๆ เพื่อรับข้อมูลได้รวดเร็ว หากเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมตัวอพยพได้ทันท่วงที
<วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว>
กรมทรัพยากรธรณี ได้บอกข้อปฏิบัติเพื่อให้ปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหวไว้ ดังนี้
ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน
2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน
4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูงๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
6. ผูกเครื่องใช้หนักๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
7. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ
2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
3. หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น หลังจากแผ่นดินไหวหยุดแล้วให้รีบออกจากอาคารโดยเร็ว
4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่างๆ
5. อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
6. ถ้าท่านกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
7. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
8. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
หลังเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที
3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่นๆ และสิ่งหักพังแทง
4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
5. ตรวจสอบแก๊สรั่วด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริงๆ
8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง
10. อย่าแพร่ข่าวลือ
<รอยเลื่อนสะกายเคยรุนแรงสุดจากปี 2473>
หากย้อนไปเมื่อกว่าประมาณปีครึ่ง ช่วงวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ได้เคยเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.0 เมื่อเวลา 08.40 น.ที่ระดับความลึก 10 กม.บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพมหานคร 490 กม. พบว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 ซม.ต่อปี ซึ่งไอ้เจ้า “รอยเลื่อนสะกาย” เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2473 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตในเมียนมามากกว่า 500 คนเลยทีเดียว
และในรอบ 50 ปีช่วง 2516–2566 เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9–7.0 ครั้งใหญ่สุดรอบ 50 ปีขนาด 7.0 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2534 ที่เมือง Mogok ในมัณฑะเลย์
โดยรอยเลื่อนสะกาย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังมากที่สุดในผืนแผ่นดินใหญ่ประเทศในอาเซียน เทียบเท่ากับรอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andreas Fault) ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรอยเลื่อนสะกายมีความยาว 1,500 กิโลเมตร และพาดผ่านตอนกลางของเมียนมา เทือกเขาหิมาลัย ผ่านลงมาถึงกรุงย่างกุง ยาวลงในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน หากย้อนกลับไป ในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ รอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผนดินไหวใหญ่ ขนาดใหญ่ 8.0 ในด้านตะวันตกนของเมืองมัณฑะเลย์ ที่ทำให้เจดีย์สำคัญพังถล่ม และแรงสะเทือนรับรู้ถึงภาคเหนือ และกทม.มาแล้ว
<โอกาสเกิดแผ่นดินไหวในไทยมีไหม?>
จากข้อมูลของ ศูนย์ปฎิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี แจ้งว่าประเทศไทย ยังมีรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง 15 กลุ่มรอยเลื่อน ประกอบด้วย
1. กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ เชียงใหม่
2. กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย
3. กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก
4. กลุ่มรอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร
5. กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านจ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย
6. กลุ่มรอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่
7. กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง
8. กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย
9. กลุ่มรอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน
10. กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์
11. กลุ่มกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี
12. กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี จ.ตาก
13. กลุ่มรอยเลื่อน ระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา
14. กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต
15. กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย
อย่างไรก็ตาม ค่าระดับความรุนแรงแผ่นดินไหว (Intensity) มีโอกาสเกิด 10% ในคาบเวลา 50 ปี
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เป็นตัวสะท้อนได้ดีเลยว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน หลายคนอาจจะมองว่าประเทศไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้น้อยแต่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกเหนือจากตัวเราเองที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน โดยเฉพาะการพก “สติ” ไปด้วยทุกที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรับมือได้ดีที่สุด แต่เชื่อว่าทุกคนย่อมไม่อยากให้เกิดขึ้น และไม่คาดคิดหรอก ว่ามันจะเกิดขึ้นและรุนแรงขนาดนี้
แต่ในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาจจะต้องทบทวนแนวทางการรับมือในอนาคต เพื่อให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยเฉพาะ “ชีวิต” ที่ไม่ควรสูญเสียในเหตุการณ์ใดเลยก็ตาม เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น มันได้เกิดขึ้นแล้ว…